ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขชี้ปัญหาค้างจ่ายค่าตอบแทนมีทุกจังหวัดพร้อมปะทุขึ้นทุกเมื่อ แนะเขียนนิยามให้ชัดทุกวิชาชีพว่าได้เท่าไหร่แบบไม่ต้องตีความ เน้นลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มเงินให้วิชาชีพฐานล่าง และเปลี่ยนระบบบริหารงาน/เปลี่ยนผู้บริหารโรงพยาบาลที่มีปัญหาหนี้สิน จนค้างจ่ายเงินค่าตอบแทนต่างๆ ของบุคลากร ให้วิชาชีพอื่นมีโอกาสบริหารงานบ้าง

นายริซกี สาร๊ะ

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) กล่าวถึงปัญหาการค้างจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขว่าเป็นปัญหาที่มีในทุกจังหวัด ในหลายๆ วิชาชีพฐานล่าง และคงจะมีมาเรื่อยๆ ขึ้นกับว่าว่าจังหวัดไหนจะปะทุขึ้นมาก่อน ซึ่งมีปัจจัยมาจาก 2-3 ประเด็นคือ

1.หลักเกณฑ์ค่าตอบแทนไม่ชัดเจนในเรื่องวิธีการจ่ายและหลักเกณฑ์เงื่อนไขแนวทางของหลายๆ วิชาชีพ ก็ยังกำกวม ต้องตีความ แต่จะชัดเจนเฉพาะวิชาชีพหลักๆ เท่านั้น ในวิชาชีพฐานล่างเมื่อต้องใช้การตีความ บางจังหวัดก็ตีความว่าได้ บางจังหวัดก็ตีความไม่ได้ และเมิ่อมีใครเรียกร้องสุดท้ายก็จะได้ ใครนิ่งเฉยไม่เรียกร้องก็จะถูกละเลยจนเสียสิทธิ์ไป

2.ความเหลื่อมล้ำของค่าตอบแทน ซึ่งยังมีอัตราสูงสุดอยู่ที่ 60,000 บาท และต่ำสุดที่ 1,000 บาท ซึ่งยังเหลื่อมล้ำถึง 60 เท่า เงินที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรรไป 3,000 ล้านบาท ยังไงก็ไม่เพียงพอให้กับทุกๆ วิชาชีพ โดยเฉพาะวิชาชีพที่เป็นฐานล่าง หากยังเอื้อเฉพาะวิชาชีพหลักเท่านั้น และใช้หลักเกณฑ์ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้

3.มีการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ หน่วยบริการสาธารณสุขหลายแห่งมีหนี้สินล้นพ้นตัว มีการก่อสร้างต่อเติมทุกปี บางครั้งจึงต้องเอาเงินบำรุงไปชำระหนี้แทนที่จะจ่ายค่าตอบแทนตามสิทธิ ทำให้เกิดการค้างจ่าย

“ตอนนี้การแก้ปัญหาค่าตอบแทนเป็นการแก้ปัญหาแบบขายผ้าเอาหน้ารอด แก้ปัญหาแค่ทีละเปลาะๆ จังหวัดไหน วิชาชีพไหน ตำแหน่งไหนที่เรียกร้องก็ได้ ถ้าไม่เรียกร้องก็จะเสียสิทธิ และโดยส่วนใหญ่หน่วยบริการที่มีปัญหาคือโรงพยาบาลเพราะการบริหารจัดการของโรงพยาบาลไปเน้นเรื่องการรักษา การก่อสร้างอาคาร พอสร้างอาคารทุกปี สร้างภาระหนี้สิน ก็ไปเอาเงินค่าตอบแทนมาโปะ จนพันกันไปในลักษณะนี้ รวมทั้งเกิดจากการนิยามค่าตอบแทนที่ไม่ชัดเจน ทำให้แต่ละโรงพยาบาลอ้างว่าไม่มีเงิน ไม่จ่าย หรือจ่ายไม่ครบได้” นายริซกี กล่าว

นายริซกี กล่าวต่อไปว่า โดยส่วนตัวคิดว่าปัญหานี้จะแก้ไขได้อย่างยั่งยืนต้องมีการแก้ที่ต้นตอคือ

1.นิยามต้องให้ชัดว่าแต่ละวิชาชีพได้เท่าไหร่ และหนังสือคำสั่งที่เกี่ยวข้องต้องเขียนให้ชัด อย่าให้ตีความ

2.ต้องลดความเหลื่อมล้ำของค่าตอบแทนในแต่ละวิชาชีพให้มากที่สุด สร้างดุลยภาพและความเป็นธรรมแก่ทุกวิชาชีพ

3.หน่วยงานไหนที่บริหารจัดการไม่ดี ควรปรับระบบบริหารจัดการหรือให้โอกาสท่านอื่นเป็นผู้บริหารแทน ไม่เช่นนั้นก็เกิดภาวะขาดทุนตลอด และไม่ควรจำกัดว่าต้องเป็นวิชาชีพบางวิชาชีพเท่านั้นที่เป็นผู้บริหารได้

“ผมคิดว่าค่าตอบแทนถือว่าเป็นขวัญกำลังใจบุคลากร และไม่ควรมีการค้างจ่าย ไม่ว่าจะวิชาชีพใด ตำแหน่งใดก็ตามโดยเฉพาะใน รพ.สต. ซึ่งเป็นหน่วยปฐมภูมิด่านหน้าที่ไม่มีงบประมาณมากมาย ควรจัดสรรค่าตอบแทนให้ 100% กระทรวงควรแก้ปัญหาที่ต้นตอในประเด็นลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพให้มากที่สุด และควรกระจายงบค่าตอบแทนให้เหมาะสมเป็นธรรมกับทุกวิชาชีพ ส่วนหน่วยบริการไหนที่มีปัญหาก็อาจต้องพิจารณาระบบบริหารจัดการหรือพิจารณาผู้บริหาร ให้โอกาสวิชาชีพอื่นมาบริหารดูบ้าง” นายริซกี กล่าว

ทั้งนี้ มีรายงานว่า งบประมาณในส่วนของการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้ของบประมาณไว้ที่ 3,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้สำหรับการจ่ายค่าตอบแทนให้กับบุคลากร แต่สำนักงบประมาณอนุมัติให้ 2,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีแผนที่จะของบกลางปีในส่วนที่เหลืออีก 1,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้สำหรับการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร