ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิศุภนิมิตฯ จ.ระนอง สร้างเครือข่าย อสต. ลงพื้นที่ทำงานควบคู่ อสม.ไทย รุกงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงการควบคุมโรคระบาดในพื้นที่ เข้าถึงกลุ่มแรงงานต่างด้าว อุดช่องว่างการสื่อสารภาษาแตกต่าง พร้อมเสนอภาครัฐมีนโยบายหนุน กำหนด รพ.สต.พื้นที่แรงต่างด้าว ต้องมีเครือข่าย อสต.

น.ส.ฐิติยา สามารถ ผู้ประสานงานโครงการ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จ.ระนอง กล่าวว่า อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) นับเป็นอีกหนึ่งกลไกในระบบสาธารณสุขของประเทศที่มีความสำคัญเช่นเดียวกับอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติทำงานและอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างเช่นที่จังหวัดระนอง ในการทำหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมทั้งดูแลสุขอนามัยต่างๆ ในชุมชน ซึ่งหากไม่มี อสต โดยใช้กลไก อสม.ทำหน้าที่แทนจะค่อนข้างมีปัญหา โดยเฉพาะการสื่อสาร เนื่องจากมีผู้ที่พูดและฟังภาษาไทยไม่ได้ ดังนั้น อสต.จึงเป็นกลไกเชื่อมต่อ ทำความเข้าใจระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชากรในพื้นที่ซึ่งเป็นคนต่างด้าว อย่างกรณีที่มีการแพร่ระบาดของไข้เลือดออก ต้องมีการรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างไร รวมถึงการใช้ทรายอะเบธ ซึ่งหากเป็น อสม.คงไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้

ในจังหวัดระนองได้มีการสร้างเครือข่าย อสต.มานานแล้ว โดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ ซึ่งทำงานมีกลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงานข้ามชาติ เห็นว่าทำอย่างไรให้มีคนทำหน้าที่เป็นล่าม เป็นคนกลางในการสื่อสารกับกลุ่มคนต่างด้าวแทนเรา เพราะเพียงกำลังเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนคงไม่เพียงพอ แต่ต้องอาศัยคนที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเองในการทำหน้านี้แทนเรา จึงเป็นที่มาของ อสต. ซึ่งต้องผ่านการฝึกอบรมในเรื่องความรู้ด้านสุขภาพ ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องก่อนไปปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังต้องมีการติดตามประเมินเพื่อดูความเข้าใจในการสื่อสารของ อสต. โดยในจังหวัดอื่นได้มีการจัดทำเครือข่าย อสต.เช่นกัน

“อสต.เป็นกลไกที่ช่วยอุดช่องว่างการทำงานสาธารณสุขในพื้นที่ซึ่งมีกลุ่มคนต่างด้าวอาศัยอยู่ ช่วยแก้ไขปัญหาการสื่อสาร โดยมูลนิธิฯ ได้คัดเลือกแกนนำในชุมชนคนต่างด้าวที่มีจิตอาสา และพอมีเวลาว่างมาอบรมความรู้เพื่อเป็นสื่อกลางสื่อสารด้านสุขภาพให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเป็นคนที่คอยสอดส่องปัญหาสุขภาพในพื้นที่ เช่น โรคท้องร่วง อหิวาตกโรค เป็นต้น เพื่อช่วยควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงให้คำแนะนำกรณีเจ็บป่วยและต้องไปหาหมอ”

น.ส.ฐิติยา กล่าวว่า ในช่วงหลังมานี้มูลนิธิศุภมิตฯ ได้พยายามเชื่อมโยงการทำงานระหว่าง อสต. กับ อสม. เข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นการทำงานควบคู่ เพราะในพื้นที่มีทั้งคนไทยและคนต่างด้าวอาศัยอยู่ด้วยกัน ดังนั้นเมื่อ อสม.ไทยลงพื้นที่ให้ความรู้กับคนไทยในชุมชน อสต.ก็เป็นผู้ให้ความรู้กับคนต่างด้าว โดยการทำงานจะค่อยช่วยเสริมและสนับสนุนกันซึ่งจะมีประสิทธิผลกว่า อย่างไรก็ตามในการสร้างเครือข่าย อสต.จะค่อนข้างมีข้อจำกัด เนื่องจากคนต่างด้าวเหล่านี้เข้ามาประเทศไทยเพราะหวังทำงานและหารายได้ ดังนั้นจึงมีเวลาว่างจำกัดในการเข้าร่วมเป็นจิตอาสาทำหน้าที่ อสต.โดยไม่มีค่าตอบแทน ดังนั้น อสต.ที่ทำงานในพื้นที่จึงเป็นลักษณะหมุนเวียนเข้าออก จึงต้องมีการจัดอบรม อสต.ต่อเนื่อง แต่การที่มีคนต่างด้าวร่วมเป็น อสต.ก็ถือว่าดีมากแล้ว

สำหรับพื้นที่จังหวัดระนองใน 5 ตำบลที่มีแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่จำนวนมาก ขณะนี้มีคนต่างด้าวที่สมัครร่วมเป็น อสต.ประมาณ 200 คน แต่จำนวนนี้ยังไม่เพียงพอเพราะเฉพาะตัวเลขขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในพื้นที่มีประมาณ 60,000-70,000 คนแล้ว ไม่นับรวมกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ดังนั้นจึงต้องพยายามสร้างเครือข่ายเพื่อให้มีการชักชวนเข้าร่วมเป็น อสต.เพิ่ม

“อสต.เป็นกลไกที่จำเป็น เพราะจะทำให้มีคนที่เข้าไปทำงานสาธารณสุขในชุมชนคนต่างด้าวได้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ดังนั้นรัฐควรมีนโยบายในการสนับสนุนเหมือน อสม. และหากเป็นไปได้ในพื้นที่ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวอยู่เป็นจำนวนมาก ควรกำหนดนโยบายให้ รพ.สต. สร้างเครือข่าย อสต.ในการทำงานในพื้นที่ อย่างไรก็ตามมองว่าสาเหตุที่ผ่านมาที่รัฐไม่ได้ให้การสนับสนุนเพราะคนเหล่านี้เป็นคนต่างด้าวทั้งที่มีจิตอาสาทำงานให้กับชุมชน”

ส่วนที่ผ่านมาภาคเอกชนให้การสนับสนุนการสร้างเครือข่าย อสต.หรือไม่ น.ส.ฐิติยา กล่าวว่า เมื่อก่อนทางกลุ่มนายจ้างและผู้ประกอบการเคยร่วมกันจากคนต่างด้าวให้ทำงานใน รพ.สต. ในการทำหน้าที่สื่อกลางด้านสุขภาพกับคนในชุมชน แต่หยุดลงในภายหลัง ไม่ได้จ้างเหมือนก่อน ขณะนี้จึงยังไม่เห็นการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน แต่ในกรณีเกิดโรคระบาด ภาคเอกชนยังคงให้ความร่วมมือด้วยดีในการเข้าตรวจคัดกรองเพื่อควบคุมโรค

ส่วนทิศทาง อสต.ในอนาคตนั้น มูลนิธิศุภนิมิตฯ มีเป้าหมายในการผลักดันเพื่อให้รัฐมองเห็นความสำคัญและมีนโยบายออกมารองรับการทำหน้าที่ อสต. โดยในระหว่างนี้เรายังคงเดินหน้าในการสร้างเครือข่าย อสต.อย่างต่อเนื่อง เพราะมองว่าเป็นกลไกที่สำคัญและจำเป็นต่อระบบสาธารณสุขประเทศ ซึ่งหน่วยงานด้านสาธารณสุขต่างก็เห็นความสำคัญ แต่ยังคงติดที่กฎหมายที่ไม่เอื้อซึ่งคงต้องมีการผลักดันต่อไป