ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอธีระ” เผยผลการศึกษาวิจัยทั่วโลกชี้ เลือกเครื่องพยุงเดินไม่เหมาะ ไม่เกิดประโยชน์กับผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ซ้ำเกิดโทษ ทำเสี่ยงหกล้มเพิ่ม 3 เท่า แนะต้องเลือกให้เหมาะกับสรีระ หรือปรึกษาแพทย์ นักกายภาพบำบัดก่อน พร้อมประเมินระบุไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแนวโน้มใช้เครื่องพยุงเพิ่ม วาระแห่งชาติการดูแลผู้สูงอายุ ต้องครอบคลุมให้ความรู้ความเข้าใจการเลือกและใช้เครื่องพยุงเดินอย่างเหมาะสม ช่วยลดอุบัติเหตุหกล้มในผู้สูงอายุ

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ด้วยประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แนวโน้มการใช้เครื่องช่วยพยุงเดินเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ ไม้เท้า วอล์คเกอร์ เป็นต้น เพื่อช่วยในการเคลื่อนไหวของร่างกาย แต่การใช้เครื่องช่วยพยุงเดินแต่ละชนิดจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้

ซึ่งจากข้อมูลรายงานการวิจัยทางการแพทย์ที่มีการทบทวนทั่วโลกพบว่าอย่างน้อยมี 7 ฉบับที่สรุปว่า การใช้เครื่องพยุงเดินนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้และเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับผู้ใช้ เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยง 2-3 เท่า และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง ให้กับผู้ใช้เอง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ดังนั้นก่อนที่จะซื้อมาใช้นั้นจำเป็นต้อง ปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เลือกรูปแบบเครื่องพยุงเดินได้อย่างเหมาะสม รู้วิธีการใช้ที่ถูกต้องและชัดเจน รวมทั้งให้ผู้ป่วยการทดลองการใช้เพื่อให้แพทย์ประเมินวิธีการใช้

ทั้งนี้การใช้เครื่องพยุงเดินดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ และหลายคนก็มองไม่เห็นปัญหา อย่างเช่น ไม้เท้าที่ดูแล้วไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่กรณีหากไม้เท้าที่ใช้อยู่มีขนาดยาวหรือสั้นไป ไม่เหมาะสมกับสรีระ ทำให้เกิดความไม่ถนัดในการใช้ แทนที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการพยุงผู้ป่วยอาจกลายเป็นสิ่งที่ค่อยถ่วงการเคลื่อนไหวได้ เช่นเดียวกับเครื่องพยุงเดินที่มีล้อ ดูแล้วจะสร้างความสะดวกให้กับผู้สูงอายุ ผู้พิการที่ไม่มีแรง ทำให้เคลื่อนไหวได้ง่าย แต่อาจทำให้เกิดการลื่นหกล้มและมีความเสี่ยงแทนได้ ดังนั้นการเลือกอุปกรณ์พยุงเดินที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า ในการเลือกเครื่องพยุงเดินที่เหมาะสมกับผู้ป่วย ในหลักการจะมีการประเมินใน 2 เรื่อง คือ 1.การรักษาสมดุลและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในการใช้อุปกรณ์ 2.การเคลื่อนไหวและลักษณะการเดิน ซึ่งในต่างประเทศได้ให้ความสำคัญอย่างมากมีการตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์ สำหรับประเทศไทยเองได้เริ่มให้ความสำคัญเช่นกัน โดยภาควิชาออร์โธปิดิกส์ รพ.รามาธบดี ได้มีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ เพื่อให้บริการวิเคราะห์การเดินกับผู้ป่วยแล้ว ไม่จำกัดเฉพาะผู้สูงอายุ แต่รวมถึงผู้ที่มีปัญหาในการเคลื่อนไหว โดยใช้งบลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท นับเป็นที่ก้าวหนึ่งในการดูแลผู้ป่วย

“เครื่องช่วยพยุงเดินและไม้เท้าควรเลือกที่เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยปรึกษาแพทย์ในการเลือกชนิดและรูปแบบที่เหมาะสมก่อน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างแท้จริง ไม่กลายเป็นภาระจนทำให้เกิดโทษกับผู้ใช้เองได้”

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า นอกจากเครื่องพยุงเดินแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นภายในบ้านและนอกบ้าน ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ได้แก่ การลื่น กาสะดุด การชน และการตก เพราะในผู้สูงอายุเป็นที่ทราบกันดีว่า ด้วยอายุที่มากขึ้น 60 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในผู้หญิงหลังหมดประจำเดือน มวลกระดูกจะลดลงจนทำให้เกิดภาวะกระดูกบาง กระดูกพรุน เมื่อเกิดอุบัติเหตุล้มลงแม้ไม่รุนแรงก็ทำให้กระดูกหักได้ ทั้งการดามและต่อกระดูกยังทำได้ยาก และเป็นปัญหาที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์กังวลในผู้สูงอายุ ดังนั้นการป้องกันและลดความเสี่ยงน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า จึงควรเลือกเครื่องช่วยพยุงเหมาะสม

ต่อข้อซักถามว่า ประเทศไทยควรมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร เพราะขณะนี้ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า ทางภาคเอกชนต่างตื่นตัวในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น แต่ในแง่ของการเตรียมข้อมูลความรู้ยังเป็นปัญหา ซึ่งในเรื่องผู้สูงอายุขณะนี้รัฐบาลได้มีการจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุโดยจัดทำเป็นวาระแห่งชาติแล้ว หากเป็นไปได้ควรครอบคลุมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องพยุงเดิน รวมถึงอุปกรณ์อื่นสำหรับผู้สูงอายุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการศึกษาหรือไม่ว่าไม้เท้าหรือเครื่องช่วยพยุงใดที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุมากกว่ากัน ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า รูปแบบเครื่องช่วยพยุงที่ผลิตขึ้น แต่ละรูปแบบมีความเหมาะสมกับสรีระผู้ป่วยที่แตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่าแบบใดมีความเสี่ยงมากกว่า ดังนั้นจึงต้องเลือกเครื่องพยุงให้เหมาะสมกับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ จึงปรึกษาแพทย์ และนักกายภาพบำบัด ซึ่งจะทำให้เครื่องพยุงเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยผู้พิการและผู้สูงอายุได้อย่างแท้จริง