ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หัวหน้าพยาบาลห้องฉุกเฉิน รพ.นราธิวาสราชนครินทร์ เปิดความรู้สึก พยาบาลถูกคุกคามกระทบขวัญและกำลังใจ ระบุจากประสบการณ์ 18 ปี พบบุคลากรน้อยเนื้อต่ำใจมาก วอนผู้บริหารอย่ามองว่าเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย

น.ส.กฤตยา แดงสุวรรณ หัวหน้าพยาบาลห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวในเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์สภาพปัญหาความรุนแรงในโรงพยาบาล ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่าพยาบาลจะเป็นผู้ที่ต้องอยู่หน้างานตลอด 24 ชั่วโมง และต้องเป็นผู้ปฏิสัมพันธ์กับคนไข้หรือญาติเป็นคนแรก แต่เมื่อเกิดเหตุความรุนแรงกับพยาบาล เช่น ถูกคนไข้ตบหน้า ผู้บริหารมักจะระบุอย่างบ่อยครั้งว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลโดยตรงกับขวัญกำลังใจของพยาบาล

“เมื่อขวัญกำลังใจไม่มี และต้องมาเจอกับงานที่เครียด กดดัน และภาระงานที่สูง แน่นอนว่าความอดทนก็จะต่ำ และผลลัพธ์ก็จะไปเกิดกับคนไข้ มันจะวนเวียนเป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้ ที่สำคัญคือบางครั้งเราถูกมองโดยที่คนไม่ได้รู้ความจริงทั้งหมด” น.ส.กฤตยา กล่าว

น.ส.กฤตยา กล่าวว่า ในหลายครั้งที่แพทย์และพยาบาลตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ แต่ยังไม่ถึงขั้นเลือดตกยางออก ก็มักจะถูกปล่อยให้เป็นเรื่องเล็กๆ และยิ่งหากไม่ออกสื่อด้วยแล้วก็จะกลายเป็นเรื่องที่เล็กมาก ส่วนตัวอยากให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วย

“มีอยู่เคสหนึ่งมีวัยรุ่นเป็นทอมพาแม่มาทำแผลโดยบอกพยาบาลว่าอย่าทำแม่เขาเจ็บนะ ระหว่างทำแผลไปแม่เขาก็ร้อง วัยรุ่นรายนั้นก็บอกว่าเดี๋ยวกูจะทำมึงบ้าง แล้วเขาก็ไปดักพยาบาลตามจุดที่พยาบาลจะลงเวร เราก็พยายามเข้าใจว่าเขาคุมอารมณ์ไม่ได้ เครียด แม่เขาป่วย และก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปแล้วก็จบ แต่จากนั้นวัยรุ่นคนนี้ก็เข้ามารับการรักษาเอง เมื่อพยาบาลเข้าไปทำแผลกลับถูกล็อคคอ รปภ.และพยาบาลวิ่งเข้าไปช่วยแต่ก็เอาไม่อยู่ โชคดีสุดท้ายพยาบาลมีวิธีการคุยและสามารถกดวัยรุ่นคนนี้ไว้ได้ สุดท้ายญาติก็มาฟ้องเราว่าเรารุมทำร้ายผู้หญิงตัวเล็กๆ แต่โชคดีที่กล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์ทั้งหมดไว้ได้ คำถามคือ เรื่องนี้คืออย่างมากก็ไปแจ้งความแล้วก็จบไป ถามว่าใครช่วยเราได้ ขวัญและกำลังใจคนทำงานอยู่ที่ไหน” น.ส.กฤตยา กล่าว

น.ส.กฤตยา กล่าวว่า โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ไม่ได้มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี แต่ก็ไม่ค่อยมีเหตุรุนแรงหรือการชกต่อยทำร้ายร่างกายกันในห้องฉุกเฉิน ถ้าจะมีก็เป็นเหตุใหญ่เช่นระเบิดไปเลย อย่างไรก็ตามด้วยโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่เปราะบางมากจึงได้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดตลอด 24 ชั่วโมง แต่โรงพยาบาลไม่สามารถจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) มานั่งทุกจุดตลอด 24 ชั่วโมงได้ เนื่องจากค่าจ้างสูง จึงได้ติดปุ่มสัญญาณไว้ใต้โต๊ะทุกโต๊ะที่มีเจ้าหน้าที่นั่ง เมื่อกดปุ่มสัญญาณก็จะไปแจ้งทาง รปภ.ส่วนกลาง

“จากประสบการณ์แล้ว ขอแลกเปลี่ยนว่าจำเป็นต้องมีกล้องวงจรปิดในทุกๆ จุดของโรงพยาบาล โดยเฉพาะในห้องฉุกเฉินนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง และอยากฝากถึงผู้บริหารว่าอยากให้ความสำคัญกับความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ด้วย ดิฉันเป็นหัวหน้าพยาบาลห้องฉุกเฉิน 18 ปี พบว่าความน้อยเนื้อต่ำใจของเจ้าหน้าที่มีมาก เพราะเกิดเรื่องแล้วถูกละเลย หรือบางครั้งก็ไม่สามารถพูดความจริงได้ สุดท้ายเขาก็เลือกพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่สบายกว่า ต้องอย่าลืมว่างานฉุกเฉินเหนื่อยสุด หนักสุด และเราต้องให้อภัยคนไข้เสมอ ขณะเดียวกันเราได้รับแรงกดดันทั้งจากแพทย์เอง จากญาติและผู้ป่วยที่เต็มไปด้วยความคาดหวัง ฉะนั้นอย่ามองปัญหาของเจ้าหน้าที่เป็นปัญหาเล็กอีกต่อไป” น.ส.กฤตยา กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง