ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวทีประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพปี ๒๕๖๐ ประเมินนโยบายและสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศมีประเด็นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น และมีผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน เสนอทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน ด้วยความไว้วางใจและเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของแต่ละฝ่าย เพื่อการเตรียมพร้อมและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (National Committee on International Trade and Health Studies: NCITHS) ร่วมกับ แผนงานการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ (International Trade and Health Programme: ITH) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัด การประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ประจำปี ๒๕๖๐ ภายใต้หัวข้อ “Looking into the Future, Assessing the Current Situation” ระหว่างวันที่ ๒๘-๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม เอกชน ทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมกว่า ๑๒๐ คน

ดร.ศิรินา โชควัฒนา ปวโรฬารวิทยา

ดร.ศิรินา โชควัฒนา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ เปิดเผยว่า ปัจจุบันนโยบายการพัฒนาประเทศได้ถูกกำหนดให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก อาทิ นโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ ยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔) การลดภาวะโลกร้อน ฯลฯ ทั้งหมดล้วนมีผลต่อท่าทีของประเทศไทยในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลต่อทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม และระบบสุขภาพของประชาชน

“การประชุมจัดขึ้นเป็นปีที่ ๔ แล้ว โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ทั้งปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ซึ่งคณะกรรมการฯ จะรวบรวมข้อเสนอแนะเพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประโยชน์ในการเตรียมการทั้งด้านวิชาการและพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องกับการค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการปกป้องสุขภาพของประชาชน”

Dr. Daniel Kertesz

Dr. Daniel Kertesz ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นทางด้านสุขภาพที่สำคัญในปัจจุบัน คือ การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) การเข้าสู่สังคมผู้อายุ ความเหลื่อมล้ำ และการเข้าถึงยา นับเป็นความท้าทายของประเทศไทยในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศ ทั้งด้านการวิจัย การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การค้าระบบออนไลน์ นโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพการค้าระหว่างประเทศที่เกื้อหนุนระบบสุขภาพของประชาชน

ในช่วงการประชุมทั้ง ๒ วัน ได้มีการอภิปรายถึงสถานการณ์ และนโยบายสำคัญในปัจจุบันทั้งในระดับโลกและภายในประเทศซึ่งมีผลต่อการกำหนดนโยบายการค้าระหว่างประเทศ การใช้กลไกความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายการค้าระหว่างประเทศและนโยบายสุขภาพไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals (SDGs) การพัฒนาและใช้เทคโนโลยีในการรักษา ตรวจวินิจฉัย และคัดกรองเพื่อรองรับความต้องการการใช้บริการการรักษาพยาบาลที่สูงมากขึ้น รวมทั้งการหารือถึงการพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ เพื่อเตรียมการสำหรับรองรับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนมากขึ้นและมีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพมากขึ้น

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการจัดการประชุมฯ กล่าวเสริมว่า ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันสะท้อนภาพรวมและวิสัยทัศน์นโยบายการค้าและสุขภาพ สรุปเนื้อหาได้ ๕ ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

๑.การส่งออกของประเทศยังคงเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

๒.เศรษฐกิจที่เติบโตย่อมส่งผลต่อระบบสุขภาพของประชาชน

๓.การมีนโยบายสาธารณะที่ดีช่วยให้การกระจายรายได้ของประชากรได้ทั่วถึงลดความเหลื่อมล้ำ

๔.การเจรจาการค้าต้องดำเนินการอย่างรอบคอบทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

และ ๕.การสร้างประสิทธิภาพนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ควบคู่ไปกับการปกป้องสุขภาพประชาชน และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอย่างเคร่งครัด

“ประเทศที่มีเศรษฐกิจดี หมายถึงประชาชนต้องมีสุขภาพที่ดีด้วย ซึ่งการเปิดเสรีทางการค้าอาจไม่ใช่สิ่งที่ทำให้การส่งออกเติบโตอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าด้วย ดังนั้น หากจำเป็นต้องเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี ก็ควรดำเนินการอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์ผลดีที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจน แต่ทราบถึงความสูญเสียว่าจะเกิดขึ้นแน่นอนและระยะยาว ซึ่งผลบวกอาจไม่สามารถชดเชยผลเสียได้เพียงพอ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมตัวเรื่องความรู้ทั้งในประเทศและเปิดกว้างระดับสากล สร้างเครือข่าย และเข้าใจถึงความแตกต่างในบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานด้วย”