ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สุขภาพฟันของคนไทยเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่ง แม้ในนโยบายด้านสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญกับการให้บริการทางทันตกรรม 2 ด้านหลัก ได้แก่ การบริการรักษาทางทันตกรรม และบริการทันตกรรมเพื่อการป้องกัน ซึ่งได้มีการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์สุขภาพช่องปากประเทศไทย พ.ศ. 2555-2559 สำหรับเป็นแนวทางในการดำเนินงานของประเทศ แต่จากข้อมูลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2558 พบว่ารูปแบบการเข้ารับบริการทันตกรรมของคนไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80 เป็นไปเพื่อการรักษามากกว่าป้องกันโรค

ชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพด้านบริการทางทันตกรรม

ปัจจุบันการเข้ารับบริการทันตกรรมของคนไทย ยังมีระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 สิทธิ ซึ่งมีความครอบคลุมการบริการทางทันตกรรมแต่มีรายละเอียดในการให้บริการที่แตกต่างกัน เช่น สิทธิประกันสังคมครอบคลุมเพียงการอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูนและการใส่ฟันเทียม ในขณะที่สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเพียงหลักประกันเดียวที่ครอบคลุมทั้งการรักษาและทันตกรรมเพื่อการป้องกัน

นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างของวิธีการเข้ารับบริการ เช่น ผู้ประกันตนภายใต้สิทธิประกันสังคมสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้จากทั้งสถานพยาบาลรัฐและเอกชน แต่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อนและนำใบเสร็จมาเบิกค่ารักษาพยาบาลจากสำนักงานประกันสังคมภายหลัง โดยเบิกได้ครั้งละไม่เกิน 900 บาทต่อปี ส่วนผู้ใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจะต้องเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลของรัฐเท่านั้น กล่าวได้ว่าความแตกต่างเหล่านี้ ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในการใช้บริการทันตกรรมระหว่างสิทธิประกันสุขภาพทั้งสามระบบทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการทางทันตกรรมที่จำเป็น และทำให้ปัญหาสุขภาพช่องปากของประชาชนไทยยังคงเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ

ผลสำรวจการใช้บริการทันตกรรมของคนไทย

จากข้อมูลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2558 ผลการสำรวจพบว่าประชากรไทยประมาณ 5.4 ล้านคนหรือร้อยละ 8.1 ของประชากรทั้งหมดได้รับบริการทันตกรรมในช่วงเวลา 12 เดือนและมีจำนวนการรับบริการเฉลี่ย0.08 ครั้ง/ปีกลุ่มอายุที่มีสัดส่วนได้รับบริการสูงที่สุด คือกลุ่มอายุ 6-12 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษา(ร้อยละ 13.5) รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 13-24 ปี (ร้อยละ8.7) ส่วนกลุ่มอายุที่มีสัดส่วนการได้รับบริการน้อยที่สุดคือ กลุ่มอายุ 0-5 ปี หรือกลุ่มเด็กเล็ก คือเท่ากับร้อยละ5.8 และพบว่าการเข้ารับบริการในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ประมาณร้อยละ 49.6 และ 46.2 ตามลำดับ

โดยการมารับบริการที่สถานพยาบาลของรัฐ ยังพบว่าสถานพยาบาลระดับตติยภูมิ เช่น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย มีผู้มารับบริการมากที่สุดคือร้อยละ 19.5 ในขณะที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีผู้มารับบริการร้อยละ11.6 และการรับบริการในภาคเอกชนเกือบทั้งหมดเลือกรับบริการที่คลินิกทันตกรรมสูงถึงร้อยละ 40.8

ข้อมูลน่าสนใจคือประชาชนใช้บริการทันตกรรมเพื่อการรักษามากถึงร้อยละ 83 ของการรักษาทั้งหมดและมีการใช้บริการทันตกรรมป้องกันเพียงร้อยละ 13 เท่านั้น ทั้งนี้ร้อยละ 27.8 ของการรักษาทั้งหมดเป็นการถอนฟัน รองลงมาเป็นการขูดหินปูนและการอุดฟัน (ร้อยละ 25.5 และ ร้อยละ 22.5 ตามลำดับ)

สำหรับทันตกรรมป้องกันส่วนใหญ่เป็นการตรวจสุขภาพช่องปาก เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่ากลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปีมีสัดส่วนผู้รับบริการมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ ทั้งนี้อาจเนื่องจากประสิทธิภาพของการให้บริการอนามัยโรงเรียนที่ทำให้เด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาสามารถเข้าถึงบริการทางทันตกรรมได้มากขึ้น และเมื่อจำแนกเฉพาะกลุ่มวัยยังพบว่า กลุ่มอายุ 0-4 ปี เป็นกลุ่มที่ได้รับบริการทันตกรรมน้อยที่สุด ทั้งที่เป็นช่วงวัยที่ควรได้รับทันตกรรมป้องกันและส่งเสริมสุขภาพช่องปากก่อนฟันแท้ขึ้นมากที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การมีสุขภาพช่องปากที่ดีต่อไป

นอกจากนี้ ทันตกรรมป้องกันในช่วงวัย 0-5 ปีมีประสิทธิผลและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ดีกว่าช่วงวัยอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มีเพียงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้นที่ชุดสิทธิประโยชน์ครอบคลุมทันตกรรมป้องกัน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของชุดสิทธิประโยชน์ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนในแต่ละสิทธิฯ เข้าถึงบริการทันตกรรมแตกต่างกัน ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ได้รับบริการทางทันตกรรมเป็นลำดับรองลงมา (ร้อยละ 6.7) และมีสัดส่วนการได้รับบริการลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 9.5 ในปี พ.ศ.2550 เป็นร้อยละ 7.6 และร้อยละ 8.7 ในปี พ.ศ. 2554และปี พ.ศ. 2556 ตามลำดับทั้งที่เป็นกลุ่มที่มักพบปัญหาการสูญเสียฟันหมดทั้งปาก ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้มีสิทธิภายใต้ประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 สิทธิพบว่าแต่ละสิทธิการรักษามีผู้รับการรักษาทางทันตกรรมโดยใช้สิทธิของตนเองประมาณร้อยละ 60 ทั้งที่ผู้มีสิทธิประกันสังคมมีทางเลือกของการรักษาที่หลากหลายกว่าทั้งสองสิทธิโดยสามารถเข้ารับบริการได้ทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนตามหลักเกณฑ์ของสิทธิประโยชน์ แต่กลับมีสัดส่วนผู้ใช้สิทธิไม่ต่างจากสิทธิการรักษาอื่นๆ

ทั้งนี้อาจเนื่องจากผู้ประกันตนต้องสำรองจ่ายค่ารักษาก่อนแล้วจึงนำใบเสร็จมาเบิกที่สำนักงานประกันสังคม โดยมีการจำกัดวงเงินการเบิก ซึ่งพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลถึงแม้จะใช้สิทธิประกันสังคม นอกจากนี้ยังมีสัดส่วนของผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้อันเนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าบริการ แสดงให้เห็นถึงหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินของกองทุนระบบสุขภาพต่างๆ ที่ยังไม่เอื้อต่อการเข้าถึงบริการ นอกเหนือจากประเด็นค่ารักษาพยาบาลแล้ว ยังมีมิติอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการ เช่น ระยะเวลาในการรอคอย ช่วงเวลาที่มารับการรักษาสิทธิประโยชน์ของสวัสดิการไม่ครอบคลุม และการเดินทาง

จากข้อมูลการสำรวจดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าการเข้ารับบริการทันตกรรมของคนไทย และการใช้สิทธิสวัสดิการเพื่อรับการรักษา รวมถึงค่าใช้จ่ายทางทันตกรรมที่เกิดขึ้น ควรมีการพัฒนาปรับปรุงนโยบายและระบบการให้บริการทางทันตกรรม ในประเด็นต่อไปนี้

1) ควรเน้นนโยบายการป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพทันตกรรมให้มากขึ้น

2) ควรมีการขยายระบบบริการทันตกรรมให้เพียงพอมากขึ้น

และ 3) ควรมีการพัฒนาให้เกิดความกลมกลืนระหว่างระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ รวมทั้งควรพิจารณาขยายการให้บริการให้สอดคล้องกับรูปแบบการรับบริการของประชาชน โดยต้องมีการพิจารณาหลักเกณฑ์การควบคุมคุณภาพบริการ ขอบเขตการให้บริการ และหลักเกณฑ์การจ่ายเงินร่วมด้วย

เก็บความจาก

วริศา พานิชเกรียงไกร และคณะ. การใช้บริการทันตกรรมของประชาชนไทย ผลจากการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2558. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2560.