ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ในงานประชุมวิชาการระบบบริการปฐมภูมิและสุขภาพชุมชน “สานพลังภาคีสู่สังคมสูงอายุในศตวรรษที่ 21” มีการจัดเสวนาสานพลังเพื่อระบบการดูแลต่อเนื่องเมื่อต้องพึ่งพิง ดำเนินรายการโดย พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน

นพ.วรวุฒิ โฆวัชรกุล

นพ.วรวุฒิ โฆวัชรกุล ผอ.รพ.สันทราย จ.เชียงใหม่ CHBC กล่าวถึงการบูรณาการร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการดูแลผู้สูงอายุว่า ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องเข้าสู่ภาวะการพึ่งพิงทางการแพทย์ แต่ที่สันทรายเราไม่ได้มองแค่สูงวัย แต่มองความสุขของผู้คนมากกว่า เพราะไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงภาวะพึ่งพิงทางการแพทย์ได้ ที่ รพ.สันทรายเราต้องการเยียวยาร่างกายพร้อมดูแลจิตใจ เมื่อแพทย์ทำการรักษาเรามักจะมุ่งหวังผลรักษา แต่ลืมดูแลเรื่องใจ แต่ที่ อ.สันทรายเราสร้างระบบเพื่อดูแลคน ไม่ใช่แค่ดูแลผู้เจ็บป่วย โดยระบบนี้จะต้องไม่พึ่งพาความสามารถส่วนบุคคล ต้องมีการพัฒนาและปรับตัวตลอดเวลา เพราะการพึ่งพาความสามารถของคนจะทำให้ระบบนี้ไม่ยั่งยืน ระบบบริการที่พวกเราร่วมกันออกแบบเป็นระบบที่มองเห็นและรับรู้การดำรงอยู่ของทุกผู้คน เป็นระบบที่จะขจัดหรือบรรเทาความทุกข์ของผู้คนที่รับผิดชอบ สิ่งสำคัญคือต้องเตรียมกับเจ้าหน้าที่เพราะทำไปจะมีความยากจากการไม่ยอมรับของเจ้าหน้าที่

นพ.วรวุฒิ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ อ.สันทรายคิดคือ ถ้าเราจะมีระบบบริการที่มีความทุกข์น้อยลงต้องมีอะไรบ้าง คำตอบคือ ต้องรู้สึกรู้สากับความเป็นไปของผู้คน คำนึงถึงมิติของผู้ป่วย เช่น การตัดขาผู้ป่วยเบาหวาน จะพูดอย่างไร นอกจากนี้ยังต้องมีเรื่องของประสบการณ์ของผู้ป่วย เพื่อปรับปรุงระบบบริการให้เข้าถึงผู้คนที่เจ็บป่วย และเข้าถึงวัตถุประสงค์ของผู้ป่วยมากขึ้น การทำงานต้องเป็นสหวิชาชีพ รวมกันเพื่อตัดสินใจสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้ เพราะเราให้ความสำคัญกับผู้ป่วยเป็นลำดับแรก คือต้อง ปลอดภัย มีคุณภาพ ผู้ป่วยพึงพอใจของ การดูแลที่เปี่ยมคุณค่า

ผอ.รพ.สันทราย กล่าวว่า นอกจากนั้นเราให้ความสำคัญเรื่อง HBS (Home based service) และ CHBC (community home based care) เพื่อการเชื่อมโยงระหว่าง รพ.และชุมชน HBS และ CHBC คือการส่งมอบความหวังผ่านการดูแลที่มีคุณภาพสูงให้กับผู้ป่วย เรามี อสม.ตรวจจับให้เจอว่าผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฟื้นฟู มีช่วงเวลา golden period ที่ถ้าช่วงนี้ได้รับการดูแลเค้าจะกลับมาได้ดี อปท.ที่สนับสนุนเครื่องมือให้ รพ.สต. เช่น เครื่องให้อ๊อกซิเจน เครื่องดูดเสมหะ

นายวีระชัย ก้อนมณี

ด้าน นายวีระชัย ก้อนมณี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการสุขภาพชุมชน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตัวอย่างของการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ทำอยู่นั้น สะท้อนเห็นภาพการต่อเชื่อมของระบบต่างๆ จนนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงในพื้นที่ ซึ่งมี 3 ส่วนคือ 1.นโยบาย ได้แก่ รัฐบาลและกระทรวง 2.การปฏิบัติในพื้นที่ คือ ท้องถิ่นและการบริหารราชการ และ 3.ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ, ท้องถิ่น และเอกชน

นายวีระชัย กล่าวว่า การออกแบบระบบบริการรอยต่อระหว่าง รพ.และชุมชนจะเป็นอย่างไร หลังจากรักษาที่ รพ.แล้ว เมื่อต้องส่งคนไข้กลับไปที่บ้าน ตรงนี้ชุมชนจะจัดการอย่างไร จะมีการจัดการ Home Based Service อย่างไร เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการ ไม่ว่าเราจะสร้างระบบบริการได้ดีอย่างไร แต่หากยังมีคนกลุ่มหนึ่งเข้าไม่ถึงบริการนั้น ก็ยังถือว่าไม่สำเร็จ ขณะเดียวกันระบบการเงินการคลังต้องยั่งยืนด้วย และที่สำคัญต้องมีธรรมาภิบาล เป็นระบบที่ตรวจสอบได้ ทุกคนมีส่วนร่วม

“ถามว่า สปสช.จะออกแบบระบบเพื่อรองรับการดูแลในชุมชนอย่างไร และ สปสช.จะมีการหนุนเสริมเครือข่ายการดำเนินงานในพื้นที่ได้อย่างไร คำตอบเรื่องนี้จะพบว่า สปสช.ได้ออกแบบระบบไว้ 3 รูปแบบเพื่อรองรับการดูแลในชุมชน นั่นคือ 1.มีกองทุนสุขภาพตำบล ปัจจุบันมี อปท.เข้าร่วม 7,547 แห่ง ถือว่าเกือบครบทั้งประเทศ 2.กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ระดับจังหวัด ปัจจุบันมีแล้ว 42 จังหวัด และ 3.กองทุนที่เพิ่งเกิดใหม่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาคือกองทุนการดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในชุมชนหรือกองทุน Long Term Care: LTC ปัจจุบันมี 4,274 แห่ง จากทั้ง 3 รูปแบบจะเห็นได้ว่า สปสช.เริ่มใช้พื้นที่เป็นฐานในการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง”

นายวีระชัย กล่าวต่อว่า เมื่อดูสถานการณ์ในปัจจุบัน จะพบว่า ในส่วนของนโยบายนั้น ระดับรัฐบาลมีความชัดเจนให้ความสำคัญ แต่การประสานระหว่างกระทรวงยังมีจุดอ่อน ขณะที่ในส่วนของการปฏิบัติในพื้นที่นั้น พบว่าในหลายท้องถิ่นทำได้ดี แต่ขาดการเชื่อมโยงข้อมูล และกลัวการตรวจสอบ สำหรับภาคีเครือข่ายทั้งรัฐ ท้องถิ่น และเอกชนนั้น พบว่ามีรูปแบบการทำงานจิตอาสา แต่ยังขาดการประสานแผน ซึ่งจากตรงนี้ เราพบว่ารูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการทำระบบบริการเพื่อดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในชุมชนคือ ชุมชนเป็นผู้คิดตัดสินใจ มี สธ.เป็นศูนย์วิชาการ และ สปสช.หนุนเสริม เพื่อเป้าหมายการดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในชุมชน

ทั้งนี้ในเวทีเสวนาดังกล่าว มีวิทยากรร่วมเสวนาอีก 3 ราย ได้แก่ 1.นางจีรนันท์ วงศ์มา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ในประเด็นการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนหนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 2.นางดุษณีย์ ทองเกลี้ยง รพ.หลวงพ่อเปิ่น อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ในประเด็นระบบการแพทย์องค์รวมเพื่อผู้สูงอายุ และ 3.นายเมธา ญาดี อบต.พักทัน อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี ประสบการณ์การบริการจัดการค่าใช้จ่าย การบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง