ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ 8 พันธมิตร เปิดตลาดธุรกิจจำหน่ายสมุนไพรครบวงจร ให้เป็นแหล่งซื้อขาย ระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค สร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ที่ จ.ปทุมธานี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดงาน “มหานครสมุนไพร” (Herbal Biz Trade Fair) ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาพืชสมุนไพรเพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจ โดยความร่วมมือของ 9 หน่วยงานในกระบวนการปลูก ผลิต จำหน่ายที่ครอบคลุม ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง รวมทั้งแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ยารักษาโรค เวชสำอาง อาหารเสริม เครื่องดื่ม เป็นต้น สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อเพื่อให้เกิดความยั่งยืน คือการเปิดตลาดเชิงธุรกิจระหว่างผู้ซื้อและผู้ประกอบการที่มีความสนใจ มุ่งหวังให้เป็นแหล่งซื้อขายสมุนไพรครบวงจร ตั้งแต่วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพ กลุ่มผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร และเป็นต้นแบบโมเดลศูนย์กลางจัดจำหน่ายครบวงจรอย่างถาวร

“สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การตลาด การจำหน่ายในเชิงพาณิชย์และการดำเนินงานแบบครบวงจร ทั้งการผลิตการแปรรูป การนำไปใช้ ถ้าทำได้แบบนี้ตลาดสมุนไพรของไทย จะเป็นสมุนไพร 4.0 อย่างแน่นอน โดยการสนับสนุนของภาครัฐและภาคเอกชน” นพ.ปิยะสกล กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้มีผู้ประกอบการมาร่วมจำหน่ายสินค้ามากถึง 200 ราย โดยแบ่งเป็น 6 โซน ได้แก่

1.โซนเฮลท์แอนด์เวลลเนส

2.โซนวีไอพี เฮิร์บ เมดีซีน เมืองสมุนไพรและประชารัฐ

3.โซนอาหารเสริมและเครื่องสำอาง

4.โซนวัตถุดิบและสมุนไพร

5.โซนอาหารและเครื่องดื่มจากสมุนไพร

และ 6.โซนบรรจุภัณฑ์และเทคโนโลยี

นอกจากนี้ในงานยังมีการจัดกิจกรรรมการสัมมนาและฝึกอบรมให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจสมุนไพร การจับคู่ทางธุรกิจและเชิญบริษัทต่างชาติชั้นนำเยี่ยมชมบูธและการแสดงสินค้าในงานนี้ด้วย เพื่อเป็นแหล่งใหม่ในการเลือกผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพของประเทศให้กับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับหน่วยงานที่เข้ามาดำเนินงาน ทั้งหมด 9 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมี 4 จังหวัดที่เป็นต้นแบบผลิตสมุนไพรครบวงจร ได้แก่ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดสกลนคร ภาคตะวันออก จังหวัดปราจีนบุรี และภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นอกจากนี้กำลังขยายเพิ่มขึ้นอีก 9 จังหวัด ตั้งเป้า 5 ปีข้างหน้า ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน มูลค่าของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัวภายในปี 2564 จากเดิม 1.8 แสนล้านเพิ่มขึ้นเป็น 3.6 แสนล้าน