ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข นำบทเรียนจากอดีตมาใช้เพื่อก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 ของการสาธารณสุขไทย ให้เป็นศตวรรษแห่งการสร้างสรรค์เพื่อประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันปลูกต้นการบูรที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็นต้นไม้ประจำกระทรวงสาธารณสุข” และแถลงข่าว 100 ปี การสาธารณสุขไทย

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จากอดีตถึงปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาสาธารณสุขใหม่ๆ เช่น โรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ ปัญหาภัยพิบัติ รวมทั้งผลกระทบจากโลกาภิวัฒน์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งระบบการสาธารณสุขไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและดีขึ้น โรคติดต่ออันตรายหลายโรคถูกกำจัดให้หมดไปเช่น อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ กาฬโรค หลายโรคมีวัคซีนป้องกัน มียารักษา ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ดังนั้นในโอกาส 100 ปีการสาธารณสุขไทยที่จะครบรอบในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 นี้ จะได้ทบทวนและนำบทเรียนจากอดีตมาใช้เพื่อก้าวสู่ศตวรรษที่สองของการสาธารณสุขไทย ให้เป็นศตวรรษแห่งการสร้างสรรค์ เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับกำหนดการพัฒนาในอนาคต

ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นองค์กรหลักของประเทศด้านสุขภาพ ได้เร่งพัฒนาระบบสุขภาพ ครอบคลุมทุกมิติ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านสาธารณสุข ให้มีความเป็นเลิศใน 4 ด้าน ทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ระบบบริการ คน และระบบบริหารจัดการ เพื่อให้ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน

โดยบูรณาการหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดูแลสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัย และปฏิรูประบบบริการในทุกระดับ ตั้งแต่ระบบบริการปฐมภูมิ ขับเคลื่อนให้เกิด “คลินิกหมอครอบครัว” ที่มีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวและทีมสหวิชาชีพ 1 ทีม ดูแลสุขภาพประชาชน 10,000 คน ขณะนี้มี 596 ทีม จะเพิ่มเป็น 1,170 ทีมในปี 2561 และการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงระยะยาว

และตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ดำเนินการพัฒนาแก้ไขปัญหาสุขภาพของพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมและเป็นหุ้นส่วนของทุกภาคส่วน

สำหรับการพัฒนาระบบบริการ ได้ให้ทุกเขตสุขภาพดำเนินการพัฒนาใน 19 สาขา และศูนย์ความเป็นเลิศโรคที่สำคัญ เช่น มะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด อุบัติเหตุ โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและราชวิทยาลัย พัฒนาความเป็นเลิศด้านวิชาการ บุคลากร และการบริการ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพภายในเขตสุขภาพ ลดความแออัด ลดความเหลื่อมล้ำ

นอกจากนี้ ได้กำหนดเป้าหมายการป้องกันควบคุมวัณโรคซึ่งไทยติดอันดับ 1 ใน 14 ประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุด จะลดอัตราป่วยให้ต่ำกว่า 10 ต่อแสนประชากรภายใน พ.ศ. 2578 ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด รวมทั้งเร่งสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองได้ และมีความรับผิดชอบต่อสุขภาพของตนเอง ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2560 – 2561 กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลอง “โครงการ 100 ปี การสาธารณสุขไทยประชารัฐร่วมใจสาธารณสุขไทยก้าวหน้า” มีกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์กระทรวงสาธารณสุขชื่อ “พิพิธภัณฑ์การสาธารณสุขและการแพทย์ไทย” รวมถึงสนับสนุนกรมและหน่วยงานจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หรือจัดแสดงนิทรรศการทางประวัติศาสตร์ให้มีพื้นที่การเรียนรู้จากประวัติศาสตร์

จัดตั้งหอจดหมายเหตุสุขภาพไทย เก็บรักษาเอกสารสำคัญ การอนุรักษ์อาคารเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีการวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สุขภาพ จัดทำหนังสือประวัติศาสตร์สาธารณสุข ผลิตสื่อเอกสารและสารคดีที่มีคุณค่าเผยแพร่ นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมในส่วนภูมิภาคทั้ง 12 เขตสุขภาพหมุนเวียนกันทุกเดือน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ เช่น การปรับปรุงโรงพยาบาลทั่วประเทศให้มีภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยาผู้ป่วย การจัดนิทรรศการ การรณรงค์สร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในโอกาสที่ก้าวเข้าสู่วาระ100 ปี ของการสาธารณสุขไทย กระทรวงสาธารณสุข ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทาน “ต้นการบูร” ให้เป็นต้นไม้ประจำกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เนื้อไม้สีน้ำตาลปนแดง เมื่อนำมากลั่นแล้วจะได้ “การบูร” ทุกส่วนมีกลิ่นหอม มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ ยาระงับประสาท แก้โรคตา แก้เลือดลม แก้ปวดฟัน แก้ไอ แก้ปวดท้อง กล็ดของการบูร ใช้ทาแก้โรคผิวหนัง ผดผื่นคัน