ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.สสจ.สุโขทัย พัฒนาโปรแกรม JOC หรือ Just One Click ช่วยบันทึกข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อวิเคราะห์และหาทางแก้ปัญหาได้อย่างแม่นยำ วอนกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาร่วมสนับสนุนต่อยอดการใช้งาน

นพ.สมศักดิ์ นุกูลอุดมพานิชย์

นพ.สมศักดิ์ นุกูลอุดมพานิชย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย เปิดเผยว่า ได้พัฒนาโปรแกรม JOC ซึ่งเป็นโปรแกรมจัดเก็บและบันทึกข้อมูลอุบัติเหตุที่สามารถกรอกข้อมูลในระบบได้รวดเร็วคล่องตัว และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุ จุดที่เกิดเหตุ เพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุได้อย่างแม่นยำมากขึ้น โดยที่ผ่านมาตนเองเป็นผู้พัฒนาโปรแกรมนี้ด้วยตัวเองเพียงคนเดียว จึงอยากให้ส่วนกลางเข้ามาช่วยสนับสนุนหรือนำไปพัฒนาต่อยอดต่อไป

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ที่มาของการพัฒนาโปรแกรมดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อนมีการรณรงค์ให้เรื่องอุบัติเหตุเป็นวาระของจังหวัดสุโขทัย ซึ่งเครื่องมือที่นำมาใช้รณรงค์มีหลายรูปแบบ ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย การให้ข้าราชการทำตัวเป็นแบบอย่างการเมาไม่ขับ คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง รวมทั้งมีกลุ่ม Line แจ้งทัศนวิสัยเส้นทางต่างๆ อย่างไรก็ดี ยังมีปัญหาเรื่องข้อมูลอุบัติเหตุที่ยังกว้างเกินไป เช่น เกิดอุบัติเหตุที่ตำบลนี้ ในเวลาระหว่าง 18.00-24.00 น. ข้อมูลลักษณะนี้กว้างจนไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้

“ผมเห็นตัวอย่างของตำรวจลอสแอนเจลิสซึ่งมีคดีขโมยรถเยอะและดูแลพื้นที่กว้างมาก ซึ่งเขาเอาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) เข้ามาช่วยทำให้การบันทึกข้อมูลมีความละเอียดมาก ก็เลยพัฒนาโปรแกรม JOC ขึ้นมา โดยย่อมาจากคำว่า Just One Click เน้นออกแบบให้ใช้งานง่ายเพื่อรบกวน partner ที่ต้องบันทึกข้อมูลให้น้อยที่สุด เพราะมีตัวอย่างบางหน่วยงานที่เคยทำฐานข้อมูลแล้วขอข้อมูลเยอะมาก เจ้าหน้าที่กู้ภัยหรือคนที่ต้องบันทึกข้อมูลก็รู้สึกว่ามันเยอะแล้วเกิดแรงต่อต้าน ผมเลยพยายามทำให้ใช้ง่ายๆ ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาทีก็กรอกข้อมูลเสร็จ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

สำหรับการทำงานของโปรแกรม JOC เมื่อมีการบันทึกข้อมูล จะเป็นข้อมูลที่ละเอียด เช่น บอกว่าเกิดอุบัติเหตุที่กิโลเมตรนี้ เวลานี้ ไม่ใช่บอกกว้างเป็นระดับตำบล แล้วก็ปักข้อมูลลงบนแผนที่เพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูลการระบาด เช่น สี่แยกไหนควรมีไฟแดงเพิ่ม หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรต้องเข้มงวดเรื่องการลดความเร็วก่อนถึงแยก เป็นต้น โดยผลที่ได้จากการวิเคราะห์นี้จะถูกรายงานให้จังหวัดรับทราบเป็นระยะๆ

นอกจากนี้ ยังมีผลพลอยได้อื่นๆ เช่นได้เห็นว่ามีหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินอยู่จุดไหน พื้นที่ไหนที่ยังขาดและควรผลักดันให้ท้องถิ่นจัดตั้งหน่วยเพิ่มตรงไหน รวมทั้งการเอาข้อมูลโรคต่างๆ มาวิเคราะห์เพื่อหาพื้นที่และแนวโน้มการระบาดได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับโปรแกรม JOC พัฒนาตั้งแต่ปี 2559 มีลักษณะเป็น web base application ทำงานได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ และยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศการประกวดนวัตกรรมด้านอุบัติเหตุ ซึ่ง นพ.สมศักดิ์ ยอมรับว่าการดูแลพัฒนาโปรแกรมนี้คนเดียวเป็นเรื่องที่เหนื่อยและหวังว่าส่วนกลางจะเข้ามาร่วมสนับสนุนในเรื่องนี้