ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรม ผอ.รพ.สต.ชายแดนใต้ จัดเวทีรวมพลคน ว.16 รอบสอง “ความหวัง ความฝัน หมออนามัยชายแดนใต้” เดินหน้าผลักดันการปรับตำแหน่งตามหลักเกณฑ์ ว.16 รอบสอง ระบุยื่นเรื่องมาเกือบปียังไม่มีความคืบหน้า

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ณ โรงแรม CS ปัตตานี สมาชิกชมรมเจ้าพนักงานสาธารณสุขปริญญาตรีชายแดนใต้ (ชมรม จพ.ป.ตรีชายแดนใต้) ร่วมกับชมรม ผอ.รพ.สต.ชายแดนใต้ และสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้เกือบ 500 คนได้จัดเวทีชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อน ว.16 รอบสองชายแดนใต้

นายมะกอเซ็ง เจะแต ประธานชมรม ผอ.รพ.สต.ชายแดนใต้ และประธานชมรม ผอ.รพ.สต.ปัตตานี กล่าวว่า สืบเนื่องจากหนังสือการบริหารบุคคลชายแดนใต้ มีหนังสือตั้งแต่ ปี 2533 และล่าสุดปรับใช้ตามหลักเกณฑ์ ว.16 ปี 2558 ของ ก.พ.ได้กำหนดให้ข้าราชการพลเรือน ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เกิน 5 ปี ที่อยู่ระดับชำนาญงานแล้ว หรือในระดับปฏิบัติงานที่มีผลสอบขึ้นบัญชี (ไม่ว่าจะลำดับใดก็ตาม) สามารถปรับตำแหน่ง เป็นระดับวิชาการชำนาญการได้ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว และมีข้าราชการพลเรือนชายแดนใต้หลายกระทรวงได้ดำเนินการปรับตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปแล้วนั้น ขณะนี้ ปี 2560 ชมรมฯ ได้ส่งรายชื่อผู้มีคุณสมบัติครบมากกว่า 300 คน แต่พบว่าการดำเนินงานปรับตำแหน่งมีความล่าช้ามาก

ขณะนี้ชมรมฯ ได้ประสานงานและปรึกษากับ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อย่างต่อเนื่อง ซึ่งท่านได้ดูแลเรื่อง ว.16 พร้อมจะรายงานมติการประชุมวันนี้ (17 ธ.ค.60) ให้ พญ.พรรณพิมล ทราบเพื่อดำเนินการต่อไป และอาจมีการยื่นหนังสือติดตามเรื่องนี้ที่กระทรวงสาธารณสุข, ศอ.บต. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย หากยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

นายอดิศักดิ์ มะประสิทธิ รองประธานชมรม ผอ.รพ.สต.ชายแดนใต้ และประธานชมรม จพ.ป.ตรี จ.นราธิวาส กล่าวว่า ในปี 2559 ขอขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะปลัดกระทรวงสาธารณสุข และรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้น คือ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดฯ และ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดฯ ที่ได้ดำเนินการปรับตำแหน่งในรอบแรก ทั้งในกลุ่มสหวิชาชีพและ back office กว่า 544 ตำแหน่งไปแล้ว ส่งผลให้พี่น้องหมออนามัยชายแดนใต้มีขวัญกำลังใจในการดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชนมากขึ้น แต่ในปีนี้ ยังมีผู้ที่มีคุณสมบัติครบอีกจำนวนหนึ่งที่รอคอยความหวังจากกระทรวง สธ.

ทั้งนี้ ได้ยื่นเรื่องตั้งแต่ มกราคม 2560 จนบัดนี้ใกล้สิ้นปีแล้ว แม้จะมีความคืบหน้าบ้าง คือมีการกลั่นกรองคุณสมบัติผู้มีสิทธิปรับตำแหน่งแล้ว แต่กลับไม่ดำเนินการต่อ โดยกระทรวงอ้างเรื่องไม่มีงบประมาณในการปรับตำแหน่งดังกล่าว แต่จากการประมาณการณ์คาดว่าในการปรับตำแหน่ง กว่า 300 ตำแหน่ง จะใช้งบประมาณไม่ถึง 2 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งงบดังกล่าวน้อยมากเมื่อเทียบกับงบที่รัฐหรือกระทรวง สธ.มี แต่มีความคุ้มค่ามากสำหรับบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้หลายร้อยชีวิตที่จะมีขวัญกำลังใจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) เลขาธิการสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ และแกนนำชมรม ผอ.รพ.สต. จ.ยะลา กล่าวว่า ในการประชุมดังกล่าว ที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์ดังนี้

1.ขอให้รัฐบาล, ก.พ., ศอ.บต. และกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการปรับตำแหน่งบุคลากรสาธารณสุขผู้มีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ ว.16 ในปี 2560 และปีต่อๆ ไปอย่างต่อเนื่องให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้

2.ขอให้รัฐบาล, ก.พ., ศอ.บต. และกระทรวงสาธารณสุข จัดสรรตำแหน่งและงบประมาณเพื่อการปรับตำแหน่งบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ ตามหลักเกณฑ์ ว.16 อย่างต่อเนื่องทุกปี

3.ขอให้ผู้บริหารโรงพยาบาล และสาธารณสุขอำเภอ ในจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ลิดรอนสิทธิบุคลากรสาธารณสุข โดยการไม่ยอมส่งรายชื่อผู้มีคุณสมบัติครบไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และกระทรวง สธ. ซึ่งส่วนใหญ่จะพบใน รพศ./รพท.ชายแดนใต้หลายจังหวัด และพบใน รพช.ของ 4 อำเภอใน จ.สงขลา โดยอ้างเหตุผลว่า เกรงว่าหากได้ตำแหน่งในหน่วยงานอื่น (เช่น สสอ. รพ.สต.) หรือฝ่ายอื่นๆ ในโรงพยาบาล หน่วยงานเดิม/ฝ่ายเดิมจะเสียอัตรากำลังไป ซึ่งถือเป็นการลิดรอนสิทธิ และความก้าวหน้าของบุคลากร

4.ขอให้หน่วยงานสาธารณสุขชายแดนใต้ทุกหน่วยงานที่มีตำแหน่งว่าง อย่าลิดรอนสิทธิ โดยการเก็บตำแหน่งว่างไว้ ปิดช่องทางไม่ให้บุคลากรสาธารณสุขจากหน่วยงานอื่นในชายแดนใต้มาปรับตำแหน่งที่หน่วยงานตน หรือกรณีไม่มีตำแหน่งว่างในหน่วยงานตน แต่ปิดโอกาสไม่ให้ไปรับตำแหน่งว่างที่อื่น ซึ่งพบปัญหานี้ใน รพศ./รพท.บางแห่ง

5.ในปี 2561 เป็นต้นไป ขอให้กระทรวงสาธารณสุข จัดสรรบุคลากร และงบประมาณในการปรับตำแหน่งตามหลักเกณฑ์ ว.16 โดยยึดโครงสร้างและอัตรากำลังการบริการงานส่วนภูมิภาคใหม่ควบคู่กัน ซึ่งจะทำให้มีบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ที่มีคุณสมบัติครบ สามารถปรับตำแหน่งได้เพิ่มขึ้นในคราวเดียวกัน

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง