ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คำถามระดับโลกที่เค้าสนใจวิจัยกันคือ มีเงินแค่ไหนจึงจะพอสำหรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของแต่ละคน? หวังจะรู้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนทั้งระดับบุคคล ระดับครอบครัว และระดับประเทศ

คำถามดังกล่าวยากนักที่จะตอบ เพราะคนเราเชื้อชาติต่างกัน ต้นทุนทางกายใจสังคม และอายุขัยต่างกัน แถมปัจจัยแวดล้อมก็ดันต่างกันด้วย ดังนั้นปัจจุบันจึงยังไม่มีคำตอบแบบฟันธงครับ

นักวิจัยด้านสุขภาพ และด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ทำการศึกษาเพื่อคาดประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพกันอยู่เยอะพอสมควร แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องศึกษาโดยจำกัดประชากรเป้าหมาย เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง ไต หรือกลุ่มสูงอายุทั้งที่มีโรคประจำตัวและไม่มีโรคประจำตัว ฯลฯ โดยยังไม่สามารถเอาตัวเลขที่ได้จากแต่ละงานวิจัยไปใช้เป็นตัวแทนสำหรับทุกคนได้อย่างสนิทใจ

ผมอยากเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้พวกเราได้ลองอ่านเผื่อจะได้ประโยชน์ในการวางแผนชีวิตตนเองหรือสำหรับครอบครัว

ในปี ค.ศ.2010 Webb A และ Zhivan NA ทีมวิจัยของศูนย์วิจัยวัยเกษียณ Boston College ตีพิมพ์ผลงานวิจัยคาดประมาณเงินที่คู่สมรสสูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ว่าจะต้องมีเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายดูแลรักษาตนเองยามเจ็บป่วย โดยอาศัยฐานข้อมูลคนเกษียณในอเมริกา เพื่อศึกษารายละเอียดอัตราการเจ็บป่วยไม่สบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาใช้เป็นข้อมูลสำหรับทำการคาดประมาณ

ผลออกมาพบว่าต้องมีอย่างน้อย 6-8 ล้านบาท และมีโอกาสราวร้อยละ 5 ที่ค่าใช้จ่ายอาจสูงเกิน 10-16 ล้านบาท แต่เดี๋ยวก่อน บางคนอาจยิ้มว่านั่นเป็นตัวเลขของคู่สมรส ดังนั้นหารสองก็ชิลๆ น่าจะพอไหว แต่ไม่ง่ายอย่างนั้นครับ หากอายุ 65 ปีและมีโรคเรื้อรังด้วย จะพบว่าตัวเลขนั้นเปลี่ยนไป แค่คนเดียวก็เกิน 6 ล้านบาทแล้ว นั่นคือข้อมูลเมื่อ 7 ปีก่อน

เมืองไทยนั้นเท่าที่สังเกตโดยคร่าว ปกติค่าใช้จ่ายจะน้อยกว่าเค้าราว 3-5 เท่า และ/หรือพัฒนาการเชิงระบบสังคมมักเดินตามเค้าห่างกันราว 7-10 ปี โดยมีข้อมูลสำคัญอีกอย่างจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วคือ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมักจะสูงขึ้นราวร้อยละ 9-12 ต่อปี

ดังนั้นหากสมมติฐานจากการสังเกตข้างต้นนั้นถูกต้อง ตอนนี้คู่คนไทยวัยเกษียณอาจต้องคิดแล้วว่าจะต้องมีเงินกันไว้กี่ล้านบาท เพราะบอกตามตรงว่ายากเหลือเกินที่จะทำประกันสุขภาพให้มาครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งได้

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งในหลักฐานวิชาการ ที่กระตุ้นให้เราได้ฉุกคิดเวลาได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับสัญญาล้านเดียวรักษาฟรีตลอดชีพที่มีการฟ้องร้องกันอยู่นั้น นี่เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องนำมาคิดวิเคราะห์ และเรียนรู้กัน

ข่าวนี้ได้รับการเผยแพร่ให้รับทราบกันผ่านสื่อมวลชนหลากหลายแขนงว่า สัญญาถูกยกเลิกโดย รพ. จนเป็นเรื่องฟ้องร้อง ล่าสุดศาลแพ่งตัดสินให้ รพ.คืนสิทธิให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ แต่ รพ.อุทธรณ์ต่อ

บทวิเคราะห์:

หนึ่ง หากย้อนเวลากลับไปในอดีตยามเกิดวิกฤติการเงิน รพ.ต้องทำทุกทางให้ได้เงินมาพยุงสถานะ รพ. แต่หากพิจารณาให้ดี จะพบว่าแนวคิดดังกล่าวนั้น ยากนักที่จะทำได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามประชาชนจำนวนหนึ่งคงคิดว่าดูแล้วได้เปรียบหรือได้ประโยชน์ในระยะยาวแน่นอน จึงตัดสินใจร่วมเข้าโครงการ จนเกิดสถานการณ์ดังที่เราได้ข่าว...แสดงถึงปรากฏการณ์อยากได้อยากมีทั้ง 2 ฝ่าย ดูแล้วเหมือนจะได้ประโยชน์ร่วมกันในตอนต้นที่ทำการตกลงกัน แต่สุดท้ายแล้วไม่ใช่

สอง การจะเกิดโครงการอะไรเพื่อมาป่าวประกาศในสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเอกชนที่มักมีแนวโน้มแสวงหากำไรนั้น จริงๆ แล้วควรมีกลไกในสังคมที่ต้องทำหน้าที่กลั่นกรอง ก่อนอนุญาตให้ประกาศไปสู่สาธารณะ ไม่ใช่ให้เกิดปัญหาไม่ปฏิบัติตามสัญญาแล้วค่อยมาพึ่งกระบวนการยุติธรรม...แสดงถึงปรากฏการณ์ของสังคมที่กลไกพื้นฐานยังมีช่องโหว่อยู่มาก

สาม ในอนาคตถึงจะอุทธรณ์หรือฎีกาแล้วผลออกมาเหมือนเดิม กลุ่มธุรกิจ รพ.ก็ค่อนข้างสบายตัว เพราะระหว่างกระบวนการต่อสู้ทางกฎหมาย ก็อาจไม่ปฏิบัติตามสัญญาของเดิมอย่างน้อยก็อีกหลายต่อหลายปี หรืออาจเป็นสิบปี เนื่องจากกระบวนการพิจารณาตัดสินกินเวลายาวนาน ประหยัดเงินไประยะยาวระยะหนึ่ง และในช่วงเวลาที่ผ่านไปนั้น กลุ่มผู้ที่เข้าโครงการไปแล้วก็จะอายุมากขึ้น หรือเจ็บป่วยจนล้มหายตายจากไป เป็นการตัดลดจำนวนคนไปโดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้ต่อให้สุดท้ายแล้ว รพ.จะแพ้คดีและต้องจ่ายชดเชยคืนสิทธิตามคำตัดสิน ค่าใช้จ่ายโดยรวมก็อาจน้อยกว่าการรับผิดชอบตามสัญญาในช่วงเวลาที่ผ่านไปทั้งหมด...แสดงถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเอาตัวเลขมาชี้นำการดำเนินงาน ซึ่งเราเห็นปรากฏการณ์การอิงตัวเลขมาเป็นสรณะมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม ซึ่งควรระวังให้ดีมิให้ตัวเลขมาเหนือชีวิต

สี่ ต่อให้กลุ่มผู้จ่ายเงินล้านจะชนะคดีในที่สุด แล้วได้สิทธิคืนตามต้องการ แต่ผลกระทบระยะยาวมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะย่อมต้องเกิดความหวาดระแวงทั้งทางตรงและทางอ้อมว่า หากเจ็บป่วยไม่สบายแล้ว ธุรกิจ รพ.ที่เคยจะไม่ปฏิบัติตามสัญญานั้น จะจัดสรรคนและทรัพยากรมาดูแลอย่างมิตรจิตมิตรใจ เอาใจใส่ และดำเนินการทุกอย่างตามมาตรฐานจริงหรือไม่ จะมีทริคอะไรระหว่างทางอีกหรือเปล่า แถมผ่านกระบวนการฟ้องร้องกันมาระยะยาวด้วย โอกาสที่จะสบายใจและรู้สึกปลอดภัยนั้นจึงดูจะน้อยลงตามลำดับ...แสดงถึงปรากฏการณ์แก้วร้าวที่ยากที่จะประสาน และพร้อมจะบาดเมื่อใดก็ได้ แม้เชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกันก็ตาม

บทสรุปที่น่าช่วยกันคิดและช่วยกันปฏิบัติ:

หนึ่ง อย่าโลภ และควรมีความพอเพียงในการดำรงชีวิต

สอง ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท เก็บหอมรอมริบ ดูแลสุขภาพตนเอง

สาม มีมิตรจิตมิตรใจกับบุคลากรทางการแพทย์ภาครัฐ ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน

สี่ รัฐควรเรียนรู้ และพัฒนากลไกเพื่อกลั่นกรองโฆษณาประชาสัมพันธ์ของกลุ่มธุรกิจแสวงหากำไร และควรมีมาตรการกำกับทีวี วิทยุ และสื่อสังคม ไม่ให้ทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการหรือแคมเปญที่เกี่ยวข้องกับชีวิต สวัสดิภาพ และความปลอดภัยของคนหมู่มาก

ห้า การประกอบกิจการหรือธุรกิจใดๆ ในสังคมควรตั้งมั่นบนจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ สินค้าหรือบริการนั้นๆ ต้องมีสรรพคุณหรือเป็นไปตามที่ได้โฆษณาประชาสัมพันธ์ (Effectiveness), ดำเนินการค้าขายโดยไม่เลือกปฏิบัติ เลือกที่รักมักที่ชัง (Non-discrimination), และต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Social responsibility) อันหมายถึงดำเนินกิจการโดยหมั่นตรวจสอบระบบของตนเองตั้งแต่ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิต และผลกระทบที่เกิดจากการค้าขายสินค้าหรือบริการ ว่าส่งผลเสียหรือผลไม่พึงประสงค์ใดๆ ต่อสังคมหรือไม่

หากมี จำเป็นจะต้องหาทางจัดการปัญหาให้บรรเทาเบาบางลง หรือปรับระบบของตนเองไม่ให้ก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์เหล่านั้น ไม่ใช่การตักตวงกำไรเยอะๆ แล้วมาประชาสัมพันธ์ว่ารับผิดชอบต่อสังคมด้วยการเจียดกำไรไปทำกิจกรรมปลูกป่า เลี้่ยงอาหารกลางวันเด็ก/คนสูงอายุ อย่างที่ทำกันในปัจจุบัน ซึ่งจริงๆ แล้วเบี่ยงเบนไปจากแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมไป

สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเราหรือสังคมโลก ล้วนมีประโยชน์ ช่วยให้เราได้เรียนรู้ และตั้งมั่นบนความพอเหมาะพอดี ไม่ประมาท ความทุกข์ก็จะลดลง ความสุขก็จะมีอยู่กับตนเองมากขึ้นตามสมควร

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์