ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาการตรวจโรคมือเท้าปากและรายงานผล ได้ภายใน 2 วัน เผยผลการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ พบยังคงเป็นไวรัสสายพันธุ์เดิมและมีผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โรคมือเท้าปากเกิดขึ้นในฤดูฝนและฤดูหนาวที่มีอากาศเย็นก็ทำให้เชื้อมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานขึ้น โดยเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเตอโร ติดเชื้อได้โดยการ สัมผัสอวัยวะ สิ่งของที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการ ไอ จาม รดกัน มักพบผู้ป่วยในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใส ตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว ในรายที่มีอาการไม่รุนแรงมักจะหายได้เองภายใน 7- 10 วัน แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาทและระบบหายใจ เช่น ปอดบวมน้ำ สมองอักเสบ หัวใจวาย อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในรายที่ติดเชื้อไวรัส เอนเตอโร 71 (EV71) โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ ถ้ามีอาการ แทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลในทันที

จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ตุลาคม พ.ศ.2560 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับตัวอย่างส่งตรวจจากผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรคมือเท้าปาก จำนวน 455 ราย พบเป็นผู้ติดเชื้อกว่าร้อยละ 26 โดยเชื้อที่พบจากผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรคเป็นไวรัสเอนเตอโร 71 และเมื่อศึกษาคุณสมบัติทางพันธุกรรมพบว่าเป็นสายพันธุ์ B5 และ C4 ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดิมที่เคยตรวจพบในปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้มีการระบาดของโรคมือเท้าปากทั่วทุกภาค สอดคล้องกับข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ที่มีการบ่งชี้ ถึงการพบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการเตรียมความพร้อมรองรับ การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสเอนเตอโร ด้วยเทคนิคการตรวจ 3 ชนิดซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 15189 : 2012 ประกอบด้วยการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันจากเชื้อไวรัสก่อโรคมือเท้าปาก ด้วยวิธี Micro Neutralization ในซีรั่มของผู้ป่วย การตรวจแยกเชื้อในเซลล์เพาะเลี้ยง และการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ก่อโรคมือเท้าปาก ด้วยวิธี Reverse Transcriptase Polymerase chain reaction (RT-PCR) ซึ่งเป็นวิธีที่มีความแม่นยำและรวดเร็ว ซึ่งการตรวจด้วยวิธี RT-PCR นี้สามารถรายงานผลได้ภายใน 2 วัน

ตัวอย่างผู้ป่วยที่ใช้ในการตรวจ ทางห้องปฏิบัติการคือ อุจจาระ สวอบคอ สวอบแผล สวอบโพรงจมูก น้ำไขสันหลัง และซีรั่ม นอกจากนี้ยังสามารถ ตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์ของไวรัสกลุ่มเอนเตอโร โดยเทคนิค DNA sequencing ในกรณีที่มีการร้องขอหรือเพื่อหาสายพันธุ์และแหล่งที่มาของเชื้อและเพื่อเป็นข้อมูลด้านระบาดวิทยาระดับโมเลกุลของไวรัสก่อโรคมือ เท้า ปาก ในประเทศไทย

“สิ่งสำคัญที่สุด คือการป้องกันการติดเชื้อโดยการดูแลรักษาสุขอนามัยที่ดี กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และเน้นการล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก ไม่ใช้จาน ชาม แก้วน้ำร่วมกัน ทำความสะอาดของเล่นและสิ่งแวดล้อม ด้วยสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดอยู่เสมอ หากพบว่ามีเด็กป่วยให้แยกเด็กที่ป่วย ออกจากเด็กปกติ และให้เด็กที่ป่วยหยุดเรียน ในกรณีที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อาจต้องปิดโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็ก เพื่อป้องกันการระบาดของโรค และทำความสะอาดพื้นผิวที่สงสัยเปื้อนเชื้อ โดยใช้ฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาคลอร็อกซ์หรือน้ำยาฟอกขาว 0.5%-1% เนื่องจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ด้วยแอลกอฮอล์” นพ.สุขุม กล่าว