ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรม สบส.จับมือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ จัดทำคู่มือทดสอบเครื่องมือวัดทางการแพทย์ในสถานบริการสุขภาพ สร้างมาตรฐานด้านวิศวกรรมการแพทย์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จับมือ 2 หน่วยงาน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ร่วมจัดทำคู่มือการทดสอบเครื่องมือวัดทางการแพทย์ จำนวน 9 ชนิด ได้แก่ เครื่องวัดความดันโลหิต, ตู้อบทารกแรกเกิด, เครื่องช่วยหายใจ, เครื่องวัดอุณหภูมิทางการแพทย์แบบไฟฟ้า ซึ่งแสดงค่าอุณหภูมิสูงสุด, เครื่องวัดอุณหภูมิทางการแพทย์แบบไฟฟ้า สำหรับการวัดค่าต่อเนื่องเครื่องวัดอุณหภูมิในช่องหูแบบอินฟาเรด, เครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ, เครื่องกระตุกหัวใจ และเครื่องอัลตราซาวด์กายภาพบำบัด เป็นต้น ใช้ควบคุมคุณภาพ มาตรฐานเครื่องมือแพทย์ให้สถานบริการสุขภาพภาครัฐและเอกชนให้มีมาตรฐานเดียวกัน สร้างความเข้มแข็งให้ระบบบริการสุขภาพ

พญ.ประนอม คำเที่ยง อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการทำ MOU กันระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันพัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถของการพัฒนาการทดสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ร่วมกันให้เกิดความสอดคล้องเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการยอมรับและนำไปสู่การใช้งานในสถานบริการสุขภาพทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

โดยได้จัดทำคู่มือการทดสอบเครื่องมือวัดทางการแพทย์ที่ใช้เป็นเครื่องต้นแบบในการสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ จำนวน 9 ชนิด ได้แก่ เครื่องวัดความดันโลหิต, ตู้อบทารกแรกเกิด, เครื่องช่วยหายใจ, เครื่องวัดอุณหภูมิทางการแพทย์แบบไฟฟ้าซึ่งแสดงค่าอุณหภูมิสูงสุด, เครื่องวัดอุณหภูมิทางการแพทย์แบบไฟฟ้าสำหรับการวัดค่าต่อเนื่อง, เครื่องวัดอุณหภูมิในช่องหูแบบอินฟาเรด, เครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ, เครื่องกระตุกหัวใจ และเครื่องอัลตราซาวด์กายภาพบำบัด ใช้ควบคุม กำกับการทดสอบเครื่องมือแพทย์ในสถานบริการสุขภาพให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถลดจำนวนเครื่องมือวัดทางการแพทย์ที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานได้อีกด้วย

นายปริญญา คุ้มตระกูล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองวิศวกรรมการแพทย์ กล่าวว่า กองวิศวกรรมการแพทย์มีหน้าที่หลักในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านวิศวกรรมการแพทย์ในระบบบริการสุขภาพ ซึ่งคู่มือทดสอบฯ ประกอบด้วย ขั้นตอนมาตรฐานวิธีการทดสอบ และประเมินผล เพื่อให้บุคลากรผู้ปฏิบัติงานสามารถนำไปปฏิบัติถูกต้อง แม่นยำมีคุณภาพและประสิทธิภาพ เกิดเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งกรม สบส.จะดำเนินการลงพื้นที่ทดสอบ สอบเทียบเครื่องมือวัดทางการแพทย์ และจะออกใบรายงานผลการทดสอบ สอบเทียบ พร้อมติดสติกเกอร์ให้กับเครื่องมือที่ผ่านการทดสอบ สอบเทียบตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสถานบริการสุขภาพ และความปลอดภัยของผู้รับบริการ ทั้งนี้ ได้ทยอยส่งมอบคู่มือการทดสอบเครื่องมือวัดทางการแพทย์ทั้ง 9 เล่มให้กับโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน สถานศึกษา จำนวน 150 แห่ง

นอกจากนี้ กรม สบส.ได้มอบหมายให้สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพทั้ง 12 เขตทั่วประเทศดำเนินการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านวิศวกรรมการแพทย์ของสถานบริการสุขภาพแก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานในสถานบริการสุขภาพ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรในการปฏิบัติงาน โดยในปี 2561 จะดำเนินการจัดทำเพิ่ม ได้แก่ เครื่องดูดของเหลว เครื่องจี้ไฟฟ้า และเครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจหากหน่วยงานใดสนใจหรือขอรับคู่มือคู่มือการทดสอบเครื่องมือวัดทางการแพทย์ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0 2149 5680 ต่อ 1301