ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พล.อ.ฉัตรชัย รองนายกฯ มอบของขวัญเด็กไทย ‘สิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก’ เครื่องมือดูแลลูกยุคใหม่ พบการเลี้ยงดูเด็กยุคนี้ 50% ใช้มือถือ-อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เลี้ยงเด็กเล็ก ปู่ย่า-คนในครอบครัวมีบทบาทสูงต่อการเลี้ยงดู ขณะที่ 59% มีหนังสือเด็กในบ้านไม่ถึง 3 เล่ม แนะสิ่งเล็ก ๆ ที่สร้างลูก จากสิ่งใกล้ตัวด้วยอุปกรณ์ศูนย์บาท ‘เล่นจ๊ะเอ๋’ ในเด็กต่ำกว่า 2 ขวบ ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองอย่างคาดไม่ถึง

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้โครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 จัดงานของขวัญเด็กไทย ‘สิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก’ เครื่องมือดูแลลูกยุคใหม่

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัย ในช่วงอายุ 0-5 ปี คือโอกาสทองของการพัฒนาคุณภาพชีวิต รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กตั้งแต่ปฐมวัยที่ครอบคลุมการดูแลเด็กตั้งแต่ในครรภ์และกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัยที่สอดคล้องกับพัฒนาการทุกด้าน อย่างไรก็ตามการเลี้ยงดูในบ้านเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับพัฒนาการของเด็กในวัยนี้

เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ สสส.จึงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่าย จัดทำโครงการสิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้แก่เด็กจากเรื่องใกล้ตัวที่ทำได้ง่าย โดยมอบของขวัญเด็กไทย 5 เครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการลูก ประกอบด้วย

1) คู่มือสิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก คู่มือพัฒนาลูกจากสิ่งใกล้ตัว

2) นิทานจ๊ะเอ๋ สื่อที่สร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว

3) คู่มือและโปสเตอร์เฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย เพื่อตรวจวัดพัฒนาการของเด็กว่าตรงตามเกณฑ์สมวัยหรือไม่ รวมถึงแอปพลิเคชัน คุณลูก ผู้ช่วยติดตามประเมินและส่งเสริมพัฒนาการลูกในฉบับพกพาบนมือถือ

4) ห้องเรียนพ่อแม่ กิจกรรมที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงกับผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กอย่างใกล้ชิด ซึ่ง SOOK by สสส. จะจัดสัญจรไปทั้ง 4 ภาค พร้อมกับทำงานร่วมกับเครือข่ายศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใน 30 จังหวัด 2,000 แห่ง เครือข่ายผู้ปกครอง และเครือข่ายโรงพยาบาลเพื่อต่อยอดในพื้นที่

และ 5) สื่อรณรงค์ ที่หยิบยกเรื่อง การเล่นจ๊ะเอ๋ และการอ่านนิทานมาเป็นตัวอย่างง่ายๆ ที่ส่งเสริมพัฒนาการลูกได้ ออกมาในรูปแบบ ภาพยนตร์โฆษณาและคลิปออนไลน์ จำนวน 5 เรื่อง โดยเครื่องมือต่างๆ นี้ จะถูกส่งมอบกระจายไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงพยาบาล เครือข่ายด้านเด็กต่างๆ ทั่วประเทศ และเปิดให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้ดาวน์โหลดฟรี ด้วย QR Code ผ่าน www.khunlook.com และเฟซบุ๊คเพจ สิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า จากข้อมูลผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2558-2559 โดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า ผู้ใหญ่ในครัวเรือน อย่างปู่ย่า ตายาย มีบทบาทสูงต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กในช่วงอายุ 3-5 ปีถึง 92.7% ขณะที่บทบาทของแม่ในการส่งเสริมการเรียนรู้อยู่ที่ 62.8% ตามด้วยบทบาทของพ่อ 34% ที่น่าสนใจคือ พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เครื่องเล่นเกม สูงถึง 50% และเกือบ 7 ใน 10 ของเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะเด็กใน กทม. และภาคใต้ ซึ่งการเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่อายุยังน้อยอาจส่งผลให้เกิดภาวะสมาธิสั้นได้

นอกจากนี้ยังพบช่องว่างของพัฒนาเด็กเล็กตามระดับการศึกษาของแม่และฐานะทางเศรษฐกิจ โดยพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่ม มีเพียง 41.2% เท่ากับว่าอีก 59% มีหนังสือเด็กในบ้านไม่ถึง 3 เล่ม โดยเด็กที่ร่ำรวยมีหนังสือสำหรับเด็กในสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มที่ยากจนถึง 3 เท่า ดังนั้นการเลี้ยงดูในบ้านเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับพัฒนาการของเด็กในวัยนี้ ซึ่งทุกครอบครัวมีต้นทุนไม่แพ้กันคือความรักความเอาใจใส่ เครื่องมือสิ่งเล็กๆที่สร้างลูก จึงถูกออกแบบจากสิ่งใกล้ตัว ง่ายๆ ช่วยส่งเสริมพัฒนาการลูกได้ ด้วยอุปกรณ์ราคาศูนย์บาท

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พัฒนาการที่ดีเริ่มต้นที่พ่อแม่และผู้ปกครอง จึงไม่อยากให้กังวลว่าการที่ลูกจะมีพัฒนาการที่ดีจะต้องลงทุนด้วยเงินจำนวนมากหรือมีเวลาที่มาก แต่มีจุดเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน ด้วยกิจกรรมธรรมดาที่เติมความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่และความสม่ำเสมอในทุกๆ วัน เช่น เล่นกับลูก อ่านหนังสือกับลูก การชวนลูกคุยเพราะยิ่งชวนลูกคุยมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะช่วยสะสมคลังศัพท์มากขึ้น การชวนให้ลงมือทำงานบ้านร่วมกัน และพาลูกออกไปเที่ยวเพื่อเรียนรู้สิ่งแวดล้อมนอกบ้าน

ตัวอย่างเช่น การเล่นจ๊ะเอ๋กับลูก ซึ่งแฝงความมหัศจรรย์ที่ช่วยให้สมองและพัฒนาการของเด็กในหลายด้านถูกกระตุ้นอย่างที่ผู้ใหญ่คาดไม่ถึง การเล่นจ๊ะเอ๋ช่วยให้เด็กในช่วง 2 ขวบปีแรกได้เรียนรู้เรื่องการคงอยู่ของสิ่งต่างๆ จากการที่ผู้ใหญ่ปิดตาหรือซ่อนแอบ ช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านการสื่อสารระหว่างกัน ฝึกการจดจำข้อมูล โดยเด็กจะจำว่าผู้ปกครองชอบโผล่ทางไหนและคาดเดาว่าครั้งต่อไปจะเป็นทิศทางใด ฝึกให้รู้จักรอคอย ช่วงเวลาที่ปิดหน้าหรือซ่อนหลังสิ่งของ เด็กจะรู้จักรอคอยว่าเมื่อไหร่จะเปิดตาหรือโผล่ขึ้นมา และเกิดสายสัมพันธ์ความผูกพันในหัวใจของลูกเพราะเป็นช่วงเวลาที่เด็กเป็นศูนย์กลาง การสบตา การใช้เสียงสูงต่ำ รอยยิ้มและเสียงหัวเราะทำให้ถักทอสายสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นต้น