ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ฉะเชิงเทราตื่นตัวจับมือทีมวิชาการ ภาคประชาสังคม และหน่วยงานราชการในจังหวัดทำนโยบายรองรับสังคมสูงวัย ดีเดย์ ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 สำนักงานสนับสนุนการพัฒนานโยบายรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) หนุนให้ประชาสังคม ส่วนราชการ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา จับมือกับมหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ เพื่อหาแนวทางการเตรียมความพร้อมสังคมสูงวัยในจังหวัดฉะเชิงเทราอย่างรอบด้าน ที่กำลังก้าวเข้าสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วและรุนแรง จะเริ่มระดมพลังภายในกุมภาพันธ์นี้

รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมการสนับสนุนการพัฒนานโยบายรองรับสังคมสูงวัยสังคมไทย เล่าสถานการณ์สัดส่วนประชากรของไทยว่า อีก 10 ปี ประเทศไทยจะมีปัญหาจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเหมือนคลื่นสึนามิ จะหนักขึ้นในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นปัญหาของคนอายุ 40-50 ปี ที่ต้องวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมกับภัยที่กำลังจะมาถึง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น แต่คนทำงานลดลง เป็นผลให้มีคนจ่ายภาษีน้อย ดังนั้นจะหวังให้รัฐมีสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุมากๆ น่าจะลำบาก หรือหวังพึ่งให้บุตรเลี้ยงในอนาคตอาจจะยากขึ้น การออมเงินตั้งแต่วัยรุ่นเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณ การขาดแคลนแรงงานทั้งในประเทศ และแรงงานจากเพื่อนบ้าน เพราะในอาเซียนด้วยกันก็กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นเดียวกัน

“หากรอรัฐบาลส่วนกลางมาขับเคลื่อนอาจจะช้าและไม่ทันการณ์ ผมคิดว่าจังหวัดหรือท้องถิ่นจะขับเคลื่อนเตรียมความพร้อมสังคมสูงวัยได้รวดเร็วกว่าแน่นอน” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.กุลวดี โรจน์ไพศาลกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ ศึกษาเกี่ยวกับผู้สูงอายุในจังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่า มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 1 แสนคน หากเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้วมีผู้สูงอายุ 75,000 คน โดยมีจำนวนผู้สูงอายุอยู่ในช่วง 60-70 ปี มากที่สุด และลดลงมาจนถึงอายุ 100 ปี มีเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่ จ.ฉะเชิงเทรามีต้นทุนที่มีชมรมผู้สูงอายุที่เข้มแข็งและกระจายอยู่หลายตำบล

นายเจษฎา มิ่งสมร ประชาสังคมฉะเชิงเทรา กล่าวว่า อยากเห็นคนฉะเชิงเทรามีคุณภาพชีวิตที่ดี หากมีการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัยที่เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ทำทั้งหวัด ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยทำงานร่วมกับคนอายุตั้งแต่ 20 ปี เป็นต้นไป จะเป็นประโยชน์ต่อคนแปดริ้ว นับเป็นโอกาสที่ดีที่เคลื่อนงานเรื่องนี้ เราต้องร่วมกันดูแลโดยไม่ทอดทิ้งใครในจังหวัด

“สังคมไทยมีทุนที่ดี มีประเพณีวัฒนธรรม มีค่านิยมที่ดี ผมมั่นใจว่าเราจะเผชิญคลื่นสังคมสูงวัยดีกว่าประเทศอื่นๆ และจังหวัดฉะเชิงเทรายินดีเป็นจังหวัดนำร่องทดลองดำเนินการเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ถ้าทำได้ดีผมคิดว่าน่าจะประยุกต์นำไปใช้ให้ทั่วประเทศได้” นายเจษฎา กล่าว

ทั้งนี้การวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อเตรียมความพร้อมสังคมสูงวัยของจังหวัดฉะเชิงเทรา ต้องครอบคลุมทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สุขภาพ และสังคม โดยจะเริ่มระดมสมองภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้