ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิศุภนิมิตฯ แม่สอด เสนอรัฐ ดึง “แรงงานข้ามชาติ” ร่วมเป็น อสต.เพิ่ม หลังบทบาทแกนนำสุขภาพในชุมชนแรงงานข้ามชาติได้ผลดี ทั้งค้นหา ติดตามผู้ป่วย และควบคุมโรค พร้อมแนะจัดสวัสดิการ สร้างขวัญกำลังใจหนุน อสต.ทำงานต่อเนื่อง ส่งผลบวกต่อระบบสาธารณสุขประเทศ

น.ส.ธัญยธรณ์ พงษ์ธรจิรพัชร ผู้ประสานงานโครงการ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จ.ตาก กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของ “อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว” (อสต.) คือทำอย่างไรให้การทำงานด้านสุขภาพในพื้นที่ชุมชนต่างชาติมีความเข้มแข็งและยั่งยืน เพราะการดำเนินงานโดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ รูปแบบเป็นโครงการทำให้ขาดความต่อเนื่อง ดังนั้นจึงคัดเลือกคนในชุมชนต่างชาติเองจากแกนนำหรือผู้มีบทบาท เพื่อเป็นจิตอาสาทำหน้าที่ อสต. ใช้กระบวนการเรียนรู้โดยชุมชนมีส่วนร่วม โดยแรกเริ่มเราเน้นติดตามผู้ป่วยเอดส์และวัณโรคที่ต้องได้รับยาต่อเนื่อง โดยประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ทั้งโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

จากการดำเนินงาน อสต.ที่ผ่านมา ในพื้นที่ อ.แม่สอดมีแรงงานข้ามชาติประมาณหลักแสนคน ในจำนวนนี้มูลนิธิศุภนิมิตฯ ดำเนินงานด้านสุขภาพครอบคลุมประมาณ 40,000-50,000 คน โดยมี อสต.ช่วยขับเคลื่อนร่วม 80 คน โดยมีการอบรมและจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงแรกมองว่า แรงงานต่างชาติที่ร่วมเป็น อสต.คงทำงานได้ไม่นาน เพราะคงต้องมีการโยกย้ายด้วยเหตุผลต่างๆ แต่ปรากฎว่า มีแรงงานต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ยังคงทำหน้าที่ อสต.มาอย่างต่อเนื่อง บางคนเป็น อสต.นาน 6-8 ปี เป็นที่ยอมรับทั้งจากคนไทย โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง อาทิ ผู้ใหญ่บ้าน สาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เป็นต้น และในชุมชนแรงงานต่างชาติ มีส่วนสำคัญในการจัดการปัญหาต่างๆ ในชุมชน ไม่เพียงเฉพาะด้านสุขภาพ

สำหรับรูปแบบการทำงานด้านสุขภาพของ อสต.นั้น ด้วยการทำงานสุขภาพในพื้นที่จะมีการจัดตั้งศูนย์สุขภาพชุมชน (Health Post) ที่ใช้รูปแบบสาธารณสุขมูลฐานของไทยที่ต้องมีคนประจำ จึงใช้บ้าน อสต.เป็นศูนย์สุขภาพชุมชน นอกจากให้ความรู้สุขศึกษา ยังค้นหาและติดตามผู้ป่วยวัณโรคที่ยังทำต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ จะมีคนไปรับตลับเสมหะเพื่อส่งตรวจ รพ.แม่สอด และเมื่อพบผู้ป่วยจะประสานไปยัง อสต.เพื่อติดตามและกำกับกินยา และจากกระบวนการนี้ผู้ป่วยมีอัตราหายขาดจากวัณโรคถึงร้อยละ 95 ที่เกิดจากการทำงานเชิงรุกอย่างจริงจัง

“การค้นหาและติดตามผู้ป่วยวัณโรคเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยวัณโรคในพื้นที่จะไม่ลดลง เพราะด้วยแรงงานต่างชาติที่มักมีการย้ายเข้าออกเป็นประจำ แต่ยังคงควบคุมให้อยู่ในอัตราเดิมหรือใกล้เคียง ซึ่ง อสต.เป็นกลุ่มคนที่บทบาทมากที่สุด เพราะการทำงานสุขภาพในพื้นที่ต้องใช้ชุมชนเป็นจุดศูนย์กลาง อสต.จึงทำหน้าที่เพื่อขับเคลื่อนเชิงรุก ใช้กลวิธีให้เจ้าของชุมชนรับรู้ปัญหาและร่วมเป็นแกนนำแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนเอง ขณะที่เอ็นจีโอเป็นเพียงแค่ผู้สนับสนุนเท่านั้น”

น.ส.ธัญยธรณ์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงาน อสต. แม้ว่าการทำงานร่วมกับ อสต.ของมูลนิธิศุภนิมิตฯ จะหยุดไปตามโครงการ ขาดความต่อเนื่อง แต่ปรากฎว่า อสต.ที่ได้สร้างเครือข่ายไว้ในพื้นที่ยังคงทำหน้าที่ต่อ เพื่อดูแลและช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในชุมชนเดียวกัน จนทำให้เกิดการขยายจำนวน อสต.เพิ่มขึ้น กลายเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนงานสุขภาพในพื้นที่ ทั้งนี้ด้วย อสต.ไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีเงินเดือน ทำงานโดยจิตอาสา ที่ผ่านมาในการเชื่อมต่อ มูลนิธิศุภนิมิตฯ ดำเนินในรูปแบบการให้กำลังใจและยกย่องความเสียสละทำหน้าที่นี้ เช่น การไปเยี่ยมบ้าน ให้เสื้อ อสต. การทำป้ายศูนย์สุขภาพชุมชนติดที่หน้าบ้าน พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในกรณีพบผู้ป่วยที่ต้องส่งต่อรักษา เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ อสต.มีความยั่งยืน หน่วยงานภาครัฐควรมีนโยบายในการสนับสนุนการทำงานของ อสต.

ต่อข้อซักถามว่า ที่ผ่านมาภาครัฐได้ให้ความสำคัญต่อ อสต.มากน้อยแค่ไหน น.ส.ธัญยธรณ์ กล่าวว่า เท่าที่ดูในส่วนนโยบายยังให้ความสนใจต่อการขับเคลื่อน อสต.น้อยมาก ขณะที่หน่วยงานรัฐในพื้นที่ได้ให้ความสำคัญและพยายามสร้างเครือข่าย อสต. เนื่องจากงานสุขภาพในพื้นที่ไม่สามารถแบ่งแยกการดูแลเฉพาะคนไทยได้ ทั้ง รพ.และ รพ.สต.ต้องดูแลทั้งคนไทยและแรงงานต่างชาติ ซึ่งการเข้าถึงพื้นที่ชุมชนแรงงานต่างชาติต้องอาศัย อสต. ที่ผ่านมาได้มีการจับคู่การทำงานระหว่าง อสต. และอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ของไทย เพื่อให้เกิดการทำงานที่ครอบคลุมในพื้นทื่ สำหรับการดำเนินงาน อสต.ในพื้นที่แม่สอดจะแตกต่างจากพื้นที่อื่น เนื่องจากแรงงานต่างชาติบางส่วนจะข้ามเดินทางไปกลับระหว่างชายแดน จึงต้องมีกระบวนการติดตามต่อเนื่อง

มองความยากง่ายในการผลักดัน อสต.ในระดับนโยบายอย่างไร น.ส.ธัญยธรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ไม่รู้ว่าภาครัฐมีมุมมองต่อแรงงานข้ามชาติอย่างไร และอาจเห็นว่า อสต.เป็นส่วนสนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในไทยอย่างไม่ถูกกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตามแม้ว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานโดยไม่ถูกกฎหมาย แต่ในชุมชนพื้นที่ต้องมีกลไกขับเคลื่อนงานสุขภาพเพื่อรองรับ เพื่อการเข้าถึงดูแล เพียงแต่ในหน่วยงานความมั่นคงอาจมีมุมมองย้อนแย้งต่องานด้านสาธารณสุข อย่างไรก็ตามอุปสรรคการดำเนินงานสุขภาพในพื้นที่แม่สอด คือ ภาษา จึงจำเป็นต้องใช้ล่ามเพื่อพูดคุย ซึ่ง อสต.เป็นกลไกที่ช่วยสื่อสารต่อไปยังชุมชนแรงงานต่างชาติได้

“อสต.ที่สร้างขึ้นเราไม่อยากให้เป็น อสต.ของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ของ รพ.สต. หรือของ สสอ. แต่ต้องการนำไปสู่การพัฒนาเพื่อเป็น อสต.ให้กับชุมชน เป็น อสต.ภาครัฐ โดยรัฐมีนโยบายเพื่อสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งศูนย์สุขภาพชุมชน การติดตามประเมินผล รวมถึงการมอบสวัสดิการบางอย่าง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ อาทิ การให้บัตร อสต.ที่ฝ่ายมั่นคงรับทราบและยอมรับ การรับบริการสุขภาพที่ รพ.สต.โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น เพื่อทำให้ อสต.มีความภูมิใจเพื่อที่จะทำงาน อสต.ต่อไป ซึ่งจะทำให้เครือข่าย อสต.มีความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขประเทศ”

น.ส.ธัญยธรณ์ กล่าวว่า ส่วนทิศทาง อสต.จากนี้ มองว่า อสต.ยังมีค่อนข้างน้อย ควรที่จะขยายจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งการที่ อสต.เป็นกลุ่มแรงงานต่างชาติ จึงทำให้มีการเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ ดังนั้นจำเป็นต้องมี อสต.เพื่อทดแทน ขณะเดียวกันอยากให้มีการขยายการทำงานคู่ขนานระหว่าง อสต. กับ อสม.มากขึ้น โดยทั้งภาครัฐและเอกชนควรประสานงานเพื่อให้การพัฒนา อสต. เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งในจังหวัดตากขณะนี้มูลนิธิศุกนิมิตฯ ทำโครงการ อสต.เฉพาะที่แม่สอดเท่านั้น แต่ในจังหวัดตากมี 5 อำเภอติดชายแดนและมีแรงงานข้ามชาติอาศัยเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ด้วยเหตุจากงบประมาณ จำนวนเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ที่จำกัด ซึ่งวันนี้เราต้องยอมรับการมีอยู่ของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะที่เข้ามาไม่ถูกกฎหมายซึ่งมีอยู่จำนวนมาก และ อสต.เป็นส่วนที่ช่วยดำเนินงานและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพในพื้นที่ให้บรรลุเป้าหมายได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง