ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เขตสุขภาพที่ 7 เผยแนวทางความสำเร็จผลงานกระตุ้นพัฒนาการเด็กอันดับ 1 ของประเทศ ชี้ผู้บริหารให้ความสำคัญ กำหนดเป็นตัวชี้วัดในการตรวจราชการ อบรมเจ้าหน้าที่อย่างน้อย รพ.สต.ละ 2 คนต้องใช้เครื่องมือ DSPM คัดกรองพัฒนาการเด็กได้ รวมทั้งมีการติดตามการลงบันทึกข้อมูลการคัดกรองอย่างเข้มข้น

นพ.ประสิทธิ์ สัจจพงษ์

นพ.ประสิทธิ์ สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กล่าวถึงผลงานเด่นของเขตสุขภาพที่ 7 ในด้านการติดตามคัดกรองเด็กอายุ 0-5 ปี ที่เป็นกลุ่มสงสัยพัฒนาการล่าช้าเป็นอันดับ 1 ของประเทศ โดยสามารถคัดกรองเด็กสงสัยพัฒนาการล่าช้าได้ 28.41% และสามารถติดตามเด็กกลุ่มสงสัยพัฒนาการล่าช้ามาทำการตรวจซ้ำได้ไม่น้อยกว่า 90% ว่าปัจจัยสำคัญมาจากความเอาจริงเอาจังของผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ รวมทั้งมีการสนับสนุนด้านไอที การลงข้อมูลอย่างเข้มข้น จึงเกิดภาพความร่วมมือในทุกระดับจนเกิดผลสำเร็จดังกล่าว

นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่าในส่วนของผู้บริหารนั้น นพ.ณรงค์ สายวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ เขตสุขภาพที่ 7 ได้กำหนดให้เรื่องนี้เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการตรวจราชการ เช่นเดียวกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่เขต 7 ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เมื่อมีนโยบายมาเช่นนี้ ทุกจังหวัดจึงมีการจัดทำแผนและถ่ายทอดนโยบายลงไปถึงอำเภอ ถึงโรงพยาบาลชุมชน และถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานคัดกรอง

ขณะเดียวกัน ก็มีการอบรมบุคลากร รพ.สต.เพื่อพัฒนาศักยภาพในการคัดกรองเด็กโดยใช้เครื่องมือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย หรือ Developmental Surveillance and Promotion Manual (DSPM) โดยอย่างน้อยแต่ละ รพ.สต.ต้องมีเจ้าหน้าที่ที่ใช้ DSPM ได้ 2 คน ซึ่งเท่าที่ดำเนินการมาพบว่าบางพื้นที่ทำได้ดีมีการนำ อสม.มาอบรมเรื่อง DSPM แล้วให้ อสม.ไปถ่ายทอดแก่ผู้ปกครองเด็กอีกทอดหนึ่ง พอตรวจพบเด็กสงสัยพัฒนาล่าช้า เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองว่าจะต้องกระตุ้นพัฒนาเด็กอย่างไรแล้วนัดมาตรวจซ้ำอีกทีใน 1 เดือน

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติก็ตระหนักถึงความสำคัญของการติดตามพัฒนาการเด็กเป็นอย่างดี เพราะเด็กคืออนาคตของประเทศ ถ้าเด็กมีปัญหาพัฒนาการล่าช้า อนาคตประเทศไทยก็คงลำบาก จึงทำให้เกิดภาพความร่วมมือขึ้นมา

นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนของระบบไอที ทุกจังหวัดต่างให้ความสำคัญในการติดตามข้อมูล มีการลงไปตรวจเยี่ยมในจุดที่มีปัญหาว่าเกิดจากอะไร ทำให้ในภาพรวมแล้วมีการลงบันทึกข้อมูลอย่างเข้มข้น

“เรื่อง IT ก็ไปดูว่าทำไมข้อมูลไม่ไหลเข้า แล้วลงไปช่วยวิเคราะห์และหาทางแก้ไข ก็ช่วยให้ตัวเลขมันเพิ่มขึ้นได้ คือบางคนทำงานจริงแต่ไม่คีย์ข้อมูล ทำให้ตัวเลขมันต่ำไป ถ้าเราทำงานแต่ไม่คีย์ข้อมูล ผลงานก็ไม่ออกมา ซึ่งจากการลงไปตามติดกับทุกส่วนที่มีปัญหาก็ทำให้มีการลงข้อมูลอย่างเข้มข้น” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง