ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครม.เห็นชอบตามที่ สธ.ชงสรรพากรพิจารณา บริจาคเงินให้ รพ.รัฐลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า มีผลใช้บังคับสำหรับการบริจาคที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 เป็นต้นไป

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้ (16 ม.ค.61) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ โดยบุคคลธรรมดาให้หักลดหย่อนได้เป็น 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค บริษัทห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคล ให้หักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของการบริจาค ไม่ว่าจะจ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน รวมถึงให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคด้วย

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า มาตรการดังกล่าวมีที่มาจากข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขที่นำเสนอกรมสรรพากร กระทรวงการคลังให้พิจารณาเรื่องดังกล่าว เมื่อกลางปี 2560 เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ที่บริจาคเงินให้สถานพยาบาลของรัฐนั้นจะสามารถลดหย่อนภาษีได้เพียง 1 เท่า จึงมีข้อเสนอว่าน่าจะมีการปรับปรุงใหม่ โดยให้เหมือนกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่กำหนดว่า ผู้บริจาคเงินเข้าสถานศึกษาสามารถลดหย่อนได้ 2 เท่า ที่ผ่านมา นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลังและกรมสรรพากร ซึ่งก็เห็นด้วย และนำไปสู่การทำหนังสือจากกระทรวงสาธารณสุขถึงกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว และนำเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม.ต่อไป โดยมาตรการนี้จะเป็นแรงจูงใจสำหรับผู้ที่ต้องการบริจาคเงินช่วยเหลือ รพ.ได้

“สธ.ได้เตรียมการออกแบบระบบรองรับให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และจะร่วมกับกรมสรรพากร ในการทำระบบ e-Donation เพื่อความสะดวกสำหรับผู้ที่จะบริจาคเงินให้ รพ.ของรัฐต่อไป” นพ.เจษฎา กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการนี้ว่าจะมีส่วนช่วยให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมสนับสนุนในด้านการให้บริการสถานพยาบาลของทางราชการ จะส่งผลให้มีการพัฒนาคุณภาพด้านการสาธารณสุขของประเทศให้ดีขึ้นและจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการเงินของสถานพยาบาลของทางราชการ รวมทั้งส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง และมีสุขภาพที่ดีขึ้น ก่อให้เกิดความเท่าเทียมในการให้บริการด้านสาธารณสุข

ส่วนผลกระทบต่อรายได้ภาครัฐคาดว่ามาตรการนี้จะมีผลต่อการจัดเก็บภาษีลดลงเพียงเล็กน้อย แต่จะมีส่วนช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในด้านสาธารณสุขได้อีกทางหนึ่งด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่สถานพยาบาลตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ม.ค.61 มีมติอนุมัติหลักการและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา มีดังนี้

1. กำหนดให้การบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถานพยาบาลซึ่งดำเนินการโดยกระทรวง ทบวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาของรัฐ หน่วยงานอื่นของรัฐ สภากาชาดไทย และสถานพยาบาลอื่นที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนี้

1.1 บุคคลธรรมดา ให้หักลดหย่อนได้เป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว

1.2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้หักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของการบริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ และรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไป โดยไม่เก็บค่าบริการใด ๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร

1.3 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่บุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สถานพยาบาลข้างต้น โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล

2. กำหนดให้การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวมีผลใช้บังคับสำหรับการบริจาคที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป