ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ชูโครงการ End of life care ในแผนกฉุกเฉิน จัดเตรียมเทปธรรมมะ นำสวดมนต์ ทำกิจกรรมให้ญาติและผู้ป่วยมีปฏิสัมพันธ์ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ชี้เป็นกระบวนการช่วยบรรเทาความรู้สึกสูญเสียในเวลาอันสั้น

นพ.วิศิษฎ์ อภิสิทธิ์วิทยา

นพ.วิศิษฎ์ อภิสิทธิ์วิทยา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางมูลนาก อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร กล่าวถึงหนึ่งในโครงการขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นโรงพยาบาลคุณธรรมว่า แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลได้ทำโครงการ End of life care เพื่อบรรเทาความรู้สึกของญาติและผู้ป่วยที่เสียชีวิตอย่างกะทันหัน โดยได้จัดเตรียมห้องๆ หนึ่งติดกับห้องฉุกเฉิน เรียกว่าห้อง End of life ซึ่งจะมีเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งกิจกรรมเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติได้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายร่วมกัน

“ปกติถ้าผู้ป่วยอาการไม่หนักเกินไปก็จะปั้มหัวใจช่วยชีวิต แต่หลายครั้งการช่วยชีวิตไม่สำเร็จ แล้วเหตุการณ์มันรวดเร็ว กระบวนการที่จะสื่อสารญาติก็จะยากลำบาก ทางแผนกฉุกเฉินก็เลยคิดกันว่าทำอย่างไรถึงจะบรรเทาความรู้สึกให้ดีขึ้นได้บ้างในกระบวนการอันสั้นๆ ก็เลยทำโครงการนี้ขึ้นมา” นพ.วิศิษฎ์ กล่าว

นพ.วิศิษฎ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาถ้าแพทย์ประเมินแล้วว่าไม่สามารถช่วยชีวิตได้ ก็จะมีกลไกสื่อสารกับญาติ เช่น สื่อสารว่าไม่ไหวแล้วนะ สภาพเป็นแบบนี้ๆ แต่กระบวนการในโครงการนี้ ถ้าประเมินแล้วว่าไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้แล้ว เจ้าหน้าที่จะพาคนไข้ที่ยังไม่เสียและญาติมาที่ห้อง End of life โดยในห้องจะมีอุปกรณ์และกิจกรรมที่ช่วยในด้านจิตใจ เช่น เทปธรรมมะ มีการนำสวดมนต์ มีการทำกิจกรรมหลายๆอย่างที่ทำให้คนไข้กับญาติได้มีปฏิสัมพันธ์กัน มีดอกไม้ ไหว้พระ และเมื่อคนไข้เสียชีวิตแล้วบางครั้งก็มีการตกแต่งศพ การจัดรูปศพให้ มีเหรียญโปรยทานให้ญาติเอาไว้โปรยระหว่างทางเวลานำศพกลับบ้าน

“กลไกตรงนี้จะใช้เวลาช่วงหนึ่ง เพื่อให้ญาติคนไข้ลดความรู้สึกที่รุนแรงและเฉียบพลันลงได้ อันนี้ประยุกต์มาจากโรงพยาบาลเอกชนที่เขาจะมีแต่งหน้าศพ หรือพวก Palliative care ที่เราทำกันอยู่แล้ว ถ้ารู้ว่าไม่ไหวแล้ว เสียชีวิตแน่แล้ว เราก็มีการสวดมนต์ให้เป็นระยะๆ แต่ Palliative care ยังพอมีระยะเวลาในระดับหนึ่ง แต่นี่เป็นห้องฉุกเฉิน มันเร่งด่วน ญาติๆ เขาไม่ได้เตรียมอะไรอยู่แล้ว เราก็ต้องเตรียมให้ เตรียมพระ เตรียมดอกไม้ เตรียมทุกอย่างไว้ให้หมด” นพ.วิศิษฎ์ กล่าว

ทั้งนี้ โครงการ End of life care ของโรงพยาบาลบางมูลนากดำเนินการมาได้ 2 ปีแล้ว และได้รับคำแนะนำจาก นพ.เกษม วัฒนชัย เมื่อเร็วๆ นี้ ให้พัฒนาเป็นแพ็กเกจครอบคลุมถึงศาสนาอื่นๆ ด้วย เพื่อเป็นต้นแบบในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงพยาบาลอื่นๆ ต่อไป

ขอบคุณภาพจาก Facebook นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง