ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทันตแพทยสภา หนุน “แนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ” ป้องกันผลกระทบต่อประชาชนและบุคลากรการแพทย์ รณรงค์หมอฟันและบุคลากรในระบบสุขภาพยึดหลักปฏิบัติตาม

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ เลขาธิการทันตแพทยสภา กล่าวว่า ด้วยโลกในยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่าสื่อสังคมออนไลน์นับเป็นช่องทางสำคัญในการติดต่อสื่อสารและเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลต่างๆ เนื่องจากมีความฉับไวและรวดเร็ว แต่ข้อมูลเหล่านั้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างจนเกิดความเสียหายและยากต้องการควบคุมในภายหลังได้ โดยเฉพาะข้อมูลในทางการแพทย์และสุขภาพที่ไม่มีการคัดกรองที่ดี การนำเสนอเนื้อหาที่ขาดความครบถ้วน การอวดอ้างและโฆษณา อาจทำให้ผู้รับสารเกิดความเข้าใจผิดได้ รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่เป็นสิทธิผู้ป่วย เหล่านี้อาจทำให้เกิดความหมิ่นเหม่ต่อจริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพได้ แม้ว่าจะเกิดขึ้นโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพและตัวผู้ป่วยเอง รวมถึงผู้รับข้อมูลข่าวสาร และเพื่อคงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อวิชาชีพแพทย์ องค์กรและบุคลากรในระบบสุขภาพ ที่ผ่านมาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงได้ออกแนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 เป็นต้นมา

“ทันตแพทยสภาในฐานะองค์กรด้านวิชาชีพทันตกรรม ได้เล็งเห็นปัญหาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสื่อสังคมออนไลน์นี้ โดยเฉพาะในระบบสุขภาพ จึงขอสนับสนุนแนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในหมวด 3 หลักจริยธรรมทั่วไปของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์ โดยร่วมรณรงค์ให้ทันตแพทย์และบุคลากรในระบบสุขภาพทั่วประเทศ ร่วมยึดหลักปฏิบัติตามแนวทางนี้ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” เลขาธิการทันตแพทยสภา กล่าว