ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลายปี 2560 รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ประกาศเป้าหมายของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาคนจนให้หมดประเทศไปภายในปี 2561 โดยรูปแบบของนโยบายได้มีการผูกติดกับโครงการจดทะเบียนคนจนในปีที่ผ่านมา ซึ่งได้มีผู้เข้าร่วมในโครงการและผ่านคุณสมบัติรวมกว่า 11.4 ล้านคน

การผลักดันโครงการแก้จนครั้งนี้ ได้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมเฉพาะผู้ที่เข้าร่วมโครงการลงทะเบียนคนจนในปีที่ผ่านมา โดยเลือกเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับเส้นบ่งชี้ถึงความยากจนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่กระนั้นก็ได้มีนักวิชาการออกมาแสดงความกังวลใจว่า อาจจะมีคนจนที่ตกหล่นจากโครงการแก้จนในครั้งนี้

เมื่อพิจารณาถึงปัญหาความยากจนของไทยในเชิงลึก จะพบว่าปัญหาความยากจนของคนไทยส่วนหนึ่ง เกิดจากการที่ประชากรกลุ่มเฉพาะของไทย เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนไร้บ้าน เข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ

เมื่อพิจารณาโครงการแก้จนในครั้งนี้ ผู้เขียนพบว่า จำนวนคนพิการที่ได้มาลงทะเบียนในโครงการจดทะเบียนคนจนมีเพียง 3.77 แสนคน ซึ่งมีจำนวนที่น้อยกว่าจำนวนคนพิการที่ลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิในการสงเคราะห์ การพัฒนาและการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ซึ่งมีมากถึง 1.8 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.ย. 2560)

ผู้เขียนเชื่อว่า จำนวนคนพิการที่มีปัญหาความยากจนแต่เข้าไม่ถึงโครงการแก้จนในครั้งนี้ มีจำนวนมากเนื่องจากข้อมูลสถิติของผู้พิการที่มาลงทะเบียนที่มีรายได้น้อยกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีจะมีมากถึงร้อยละ 91.5 ของผู้ที่เข้าร่วมทั้งหมด หรือประมาณ 3.4 แสนคน จึงทำให้เชื่อได้ยากว่ากลุ่มคนพิการที่ไม่ได้มาลงทะเบียนประมาณ 1.42 ล้านคนจะเป็นผู้ที่มีรายได้เกินกว่า 1 แสนบาทต่อปีทั้งหมด

ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรที่จะต้องดำเนินการเป็นอันดับแรก คือ การมุ่งเน้นในเรื่องของการตามหากลุ่มคนที่ตกหล่นจากโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประชากรกลุ่มเฉพาะที่มักจะถูกละเลยและเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผู้เขียนเชื่อว่าการเข้าถึงกลุ่มคนที่ตกหล่นบางกลุ่มจะไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป เพียงแต่ต้องอาศัยการประสานฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน เช่น ข้อมูลการจดทะเบียนคนจนกับข้อมูลการจดทะเบียนคนพิการ เป็นต้น

การเดินก้าวแรกเป็นก้าวที่กำหนดทิศทางและอนาคตความสำเร็จของโครงการ การเข้าถึงกลุ่มคนที่ตกหล่นจากโครงการให้ครบถ้วนจะนำไปสู่การเริ่มต้นแก้ไขปัญหาความยากจนของไทยได้อย่างแท้จริง

ข้อคิดเห็นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของผลการศึกษาโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ผู้เขียน นณริฏ พิศลยบุตร, วัชรินทร์ ตันติสันต์, ศุภชัย สมผล และ วิชญา พีชะพัฒน์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง