ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันมะเร็งเตือนเสียงแหบเรื้อรังที่รักษาไม่หายนานกว่า 2 สัปดาห์ระวังเป็นมะเร็งกล่องเสียง แม้จะพบได้ไม่บ่อยแต่พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง มักพบในอายุ 50 ปีขึ้นไป และพบบ่อยที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สาเหตุการเกิดมะเร็งกล่องเสียงปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด มักพบในกลุ่มชายสูงวัยที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เป็นโรคกรดไหลย้อนการได้รับฝุ่นละอองหรือสัมผัสสารเคมีในอุตสาหกรรมเป็นเวลานานและอาจสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส HPV อาการแรกเริ่มจะมีเสียงแหบเรื้อรังที่รักษาไม่หายนานกว่า 2 สัปดาห์ โดยไม่มีสาเหตุที่ทำให้เสียงแหบชัดเจน เช่น ใช้เสียงมากหรือมีการอักเสบหรือระคายเคืองของทางเดินหายใจส่วนบน ในรายที่มีการลุกลามมากขึ้นอาจมีอาการเจ็บคอเรื้อรัง ไอเรื้อรัง มีความรู้สึกไม่สบายในลำคอเหมือนมีก้างติดคอ กลืนอาหารลำบาก หายใจขัด หายใจลำบาก มีเสมหะปนเลือด มีก้อนที่ด้านข้างคอโตจากเซลล์มะเร็งลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า การวินิจฉัยโรคมะเร็งกล่องเสียงแพทย์จะใช้กระจกส่องดูกล่องเสียง ดูลักษณะของกล่องเสียงว่ามีเนื้องอกผิดปกติหรือไม่ ทั้งในขณะที่ผู้ป่วยหายใจเข้าออกและตอนเปล่งเสียง ในกรณีที่ตรวจดูกล่องเสียงยากหรือตรวจด้วยกระจกไม่ได้ ต้องใช้กล้องส่องตรวจดูบริเวณกล่องเสียง

ส่วนการรักษาหากผู้ป่วยเป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้น เช่น เนื้องอกอยู่ที่ตำแหน่งของสายเสียง พวกนี้จะแสดงอาการตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก ทำให้มีโอกาสรักษาหายขาดได้มาก เริ่มตั้งแต่การใช้เลเซอร์ การใช้รังสีรักษาหรือการผ่าตัดกล่องเสียงออกบางส่วนก็เพียงพอ ไม่มีปัญหาเรื่องการพูดหรือการหายใจแต่อย่างไร

แต่ในกรณีที่เป็นเนื้องอกที่ตำแหน่งอื่นของกล่องเสียงร่วมด้วย นอกจากต้องผ่าตัดกล่องเสียงออกทั้งหมดแล้ว อาจต้องผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่คอออกหรือใช้การฉายรังสีร่วมด้วย เมื่อกล่องเสียงถูกตัดทิ้งไปทั้งหมด ก็ต้องเอาส่วนของหลอดลมมาเปิดที่ลำคออย่างถาวร เพื่อให้อากาศผ่านเข้าออกโดยตรงและไม่สามารถพูดได้เหมือนอย่างเคย ส่วนใหญ่ต้อง ฝึกพูดโดยการสร้างเสียงจากหลอดอาหารแทน ทำให้คุณภาพเสียงไม่เหมือนเสียงที่ผ่านกล่องเสียงตามปกติ

ดังนั้น ผู้สูงวัยที่มีประวัติสูบบุหรี่มายาวนานหรือผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ควรเลิกพฤติกรรมเหล่านี้และควรมาตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ส่วนผู้มีอาการเสียงแหบเรื้อรังเกินกว่า 2 สัปดาห์ควรรีบปรึกษาแพทย์