ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. จับมือ สถาบันยุวทัศน์ฯ ท้องฟ้าจำลอง จัดกิจกรรม ป(ล)อด รับวันเด็กแห่งชาติ ยุค 4.0 กับภารกิจ “ชวนครอบครัวเลิกบุหรี่เพื่อคนที่เรารัก” เปิดพื้นที่เรียนรู้เท่าทันอันตรายจากบุหรี่ ควันบุหรี่มือสอง หลังพบคนไทยยังสูบบุหรี่ในบ้านสูง 27.8% ตัวการก่อโรคทางเดินหายใจ หอบ หืด มากกว่าบ้านปลอดควันบุหรี่ แนะผู้ใหญ่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็ก

เมื่อวันเสาร์ ที่ 13 มกราคม 2561 ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษากรุงเทพมหานคร (ท้องฟ้าจำลอง) สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ร่วมกับโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม “ป(ล)อด” รับวันเด็กแห่งชาติ ชูแนวคิด “ของขวัญที่มีค่าที่สุดคือการมีสุขภาพแข็งแรง” เพื่อคนที่เรารัก

โดย นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดว่า การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการตายที่ป้องกันได้ ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากกว่า 51,000คนต่อปี ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคที่เกิดจากบุหรี่เป็นต้นเหตุสูงถึง 7.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ0.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในแต่ละปี ประเทศไทยบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งสอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) ที่ได้กำหนดมาตรการลดการใช้ยาสูบและสูดดมควันบุหรี่มือสอง ให้คนไทยทุกคนต้องรับผิดชอบปกป้องสุขภาพของตนเองและครอบครัวจากบุหรี่มือสอง โดยทำให้บ้าน และยานพาหนะเป็นที่ที่ปลอดบุหรี่ สอนให้เด็กอยู่ให้พ้นจากควันบุหรี่มือสอง และผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเด็กในการไม่สูบบุหรี่

ขณะที่ นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การจัดโครงการ “ป(ล)อด” นี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายต่างๆ ร่วมกันได้ดำเนินงานมาเป็นปีที่ 2 แล้ว อีกทั้งยังเป็นการมอบรางวัลและส่งต่อกำลังใจให้กับนักเรียน นักศึกษา ที่เข้าร่วมประกวดเรียงความ ในหัวข้อ “ชวนพ่อเลิกบุหรี่”ที่ต้องการส่งถึง พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือที่ยังสูบบุหรี่ ให้หันมาเห็นความสำคัญของผลกระทบจากการสูบหรี่ที่มีต่อบุตรหลานหรือคนในครอบครัว

“ปัจจุบันมีคนไทยสูบบุหรี่ถึง 10.8 ล้านคน และยังพบว่าร้อยละ 39.5 ของครัวเรือนไทยมีผู้ที่สูบบุหรี่ในบ้าน และร้อยละ27.8 เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ในบ้านทุกวัน การสูบบุหรี่นอกจากจะทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้สูบแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองอีกด้วย ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองมีโอกาสเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ไม่แตกต่างจากผู้ที่สูบบุหรี่ และจากการสำรวจของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ย. พ.ศ. 2559 พบว่า เด็กที่อาศัยในบ้านที่มีผู้สูบบุหรี่ เกิดการเจ็บป่วยมากกว่าเด็กในบ้านที่ไม่มีการสูบบุหรี่ ส่วนเด็กเล็กที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบและปลอดบวม สูงกว่าเด็กทั่วไป และมีอัตราการเกิดโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น ดังนั้นพ่อ แม่ ผู้ปกครองควรหันมาดูแลสุภาพครอบครัวและเป็นตัวอย่างที่ดีโดยการไม่สูบบุหรี่สำหรับเยาวชน” รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

ด้าน นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วยชุดนิทรรศการขนาดใหญ่ จำนวน 4 ห้อง ที่เล่าเรื่องราวผลกระทบจากบุหรี่ ในฉบับที่ “เด็ก” เข้าใจง่าย และมีความสนุกสนาน ซึ่งภายในห้องนิทรรศการจะประกอบด้วย ห้องที่ 1 ที่ชวนมารู้จัก “ปอด” ห้องที่ 2 ที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดจากบุหรี่กับปอด ห้องที่ 3 ห้องชวนคิดกับปอดของเรา และห้องที่ 4 ห้องของขวัญที่เด็กจะขอของขวัญจากครอบครัว คือการชวนพ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง เลิกบุหรี่ ทั้งนี้ยังจัดให้มีการแสดงโชว์ “ผ่าปอด” โดยนักเรียนจากโรงเรียน สวนกุหลาบวิทยาลัย สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนพื้นที่จากท้องฟ้าจำลอง เอกมัย ที่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้เท่าทันพิษภัย และอันตรายจากบุหรี่ และควันบุหรี่มือสอง