ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดสถิติรับเรื่องร้องเรียนด้านสุขภาพปี 2557-2560 พบมีโรงพยาบาลเอกชน 65 แห่ง ถูกโวย

ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยสถานการณ์ปัญหาการร้องเรียนโรงพยาบาลเอกชน ผ่านเวทีเสวนาสภาผู้บริโภค ประเด็น “CSR ความรับผิดชอบต่อสังคมในโรงพยาบาลเอกชน” เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2561 ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตอนหนึ่งว่า จากสถิติการรับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ปี 2557-2560 ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค ในหมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข พบว่ามีทั้งสิ้น 977 เรื่อง แบ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐ 825 เรื่อง และโรงพยาบาลเอกชน 152 เรื่อง โดยผู้ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ร้องเรียนมากที่สุด รองลงมาคือผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ตามลำดับ

สำหรับกลุ่มปัญหาการร้องเรียน ประกอบด้วย

1.ให้คำปรึกษาการย้าย/สอบถามสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ สิทธิถูกย้ายโดยไม่รู้ตัว สอบถามสิทธิประโยชน์ต่างๆ

2.ถูกเรียกเก็บเงินจากการใช้สิทธิกองทุนฉุกเฉิน อาทิ โรงพยาบาลรับรองว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต แต่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แจ้งว่าไม่เข้าเกณฑ์วิกฤต หรือผู้ป่วยหมดสติหัวใจหยุดเต้น โรงพยาบาลเก็บเงินค่ารักษา 5,733 บาท แต่ สพฉ.ประเมินว่าเข้าเกณฑ์ฉุกเฉิน และให้ผู้ป่วยขอคืนเงินจากโรงพยาบาล

3.ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล/ยังไม่ได้รับค่าเสียหาย อาทิ รักษาแผลแต่แผลกลับติดเชื้อ เนื้อเน่า และเสียชีวิต ผ่าซีสต์แล้วตาบอด

4.ไม่ได้รับความสะดวก/ไม่ได้รับการปฏิบัติตามสิทธิ อาทิ โรงพยาบาลมัดผู้ป่วยโดยไม่อธิบายสาเหตุให้ญาติทราบ ได้รับการตรวจล่าช้า เปลี่ยนแพทย์และลดยาโดยไม่แจ้ง พฤติกรรมของผู้ให้บริการ โรงพยาบาลแจ้งสิทธิประโยชน์ผิด

5.เรียกเก็บค่ารักษาเกินอัตราที่กำหนด/ค่ารักษาพยาบาลแพง อาทิ ไปรักษาโรงพยาบาลตามสิทธิแต่ถูกเรียกเก็บเงิน แพทย์เพียงพูดคุยให้คำแนะนำแต่มีการเก็บค่าตรวจบริการและเวชภัณฑ์ ขอใบรับรองแพทย์กรณีประสบอุบัติเหตุแต่ถูกเรียกเก็บเงิน โรงพยาบาลเอกชนเก็บค่ารักษาพยาบาลแพง

6.ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข อาทิ ผู้ร้องมีอาการข้างเคียงจากการทานยาตัวใหม่ ขอกลับไปใช้ยาตัวเดิม แต่โรงพยาบาลไม่ยอมเปลี่ยนให้ เมื่อส่งจดหมายถึงโรงพยาบาลจึงได้รับการเปลี่ยนยา แพทย์วินิจฉัยผิดพลาดจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต กรณีตกลงกันว่าจะไม่เรียกเก็บเงินแต่กลับมีใบแจ้งหนี้เรียกเก็บตามหลัง

7.ระบบส่งต่อใช้ไม่ได้ อาทิ ขอใบส่งตัวแต่แพทย์ไม่ให้ แพทย์ไม่ให้ใบส่งตัวทำให้ต้องชำระเงินเอง ขอใบส่งตัวที่คลินิกแล้วถูกเรียกเก็บค่าบริการครั้งละ 2 บาท

ทั้งนี้ ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน เรื่องที่ร้องเรียน 3 อันดับแรก ได้แก่

1.ให้คำปรึกษาการย้าย/สอบถามสิทธิประโยชน์ 35 เรื่อง

2.ถูกเรียกเก็บเงินจากการใช้กองทุนฉุกเฉิน 33 เรื่อง

และ 3.ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล 26 เรื่อง

ขณะที่โรงพยาบาลรัฐ เรื่องที่ร้องเรียน 3 อันดับแรก ได้แก่

1.ให้คำปรึกษาการย้าย/สอบถามสิทธิประโยชน์ 346 เรื่อง

2.ได้รับความเสียหายจากการรักษา 127 เรื่อง

และ 3.ไม่ได้รับความสะดวกสบายและไม่ได้รับการปฏิบัติตามสิทธิ 120 เรื่อง

สำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่ถูกร้องเรียนมีทั้งสิ้น 65 แห่ง โดยโรงพยาบาลใน กทม.ที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากสถิติพบว่าโรงพยาบาลเอกชนจะถูกร้องเรียนเรื่องการเก็บเงินจากผู้ป่วยที่ใช้สิทธิฉุกเฉินมากกว่าโรงพยาบาลรัฐ รวมถึงเรื่องค่ารักษาพยาบาลแพงที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลเอกชนอย่างเดียว สังคมจึงจำเป็นต้องพูดคุยกันถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของโรงพยาบาลเอกชนด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘สภาผู้บริโภค’ จี้รัฐล้อมคอก รพ.เอกชน ขูดรีดค่ารักษาพยาบาล

เครือข่ายผู้ป่วยฯ วอนสังคมรวมพลัง 5 หมื่นชื่อ ชง ‘นายกฯ’ ตั้งหน่วยงานคุมราคา รพ.เอกชน

เหยื่อ รพ.เอกชน สุดช้ำ ถูกรีดค่ารักษาจากความผิดพลาดของ รพ.เอง

ค้านปล่อยเสรีธุรกิจ รพ. ภาค ปชช.เรียกร้องรัฐตรา กม.คุมค่ารักษา

จดหมายแค่ฉบับเดียวทำให้ไม่ได้ ญาติคนไข้ โวย รพ.เอกชน ไม่ตั้งเรื่องเบิกเงิน 8 หมื่นบาทคืน