ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงการคลังเห็นชอบระเบียบจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ให้บริการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ครอบคลุมบุคลากรการแพทย์ภาครัฐทุกสังกัดและบริการผู้ป่วยทุกสิทธิ กรณีเสียชีวิตได้รับการช่วยเหลือในวงเงินไม่เกิน 4 แสนบาท มีผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบในหลักการให้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขหารือร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จัดทำระเบียบหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าว รวมทั้งให้ขอรับความเห็นจากสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐไปพิจารณาดำเนินการต่อ โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ยกร่างระเบียบการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็นชอบและลงนามในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข พ.ศ.2561 และจะมีผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามข้อ 6 ของระเบียบดังกล่าวใน 4 กรณี ดังนี้

1.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องรักษาตลอดชีวิตและมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท

2.กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท

3.กรณีติดเชื้อ หรือกรณีบาดเจ็บจนได้รับอันตรายสาหัส จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ไม่เกิน 100,000 บาท

และ 4.กรณีติดเชื้อ หรือกรณีบาดเจ็บ และได้รับการรักษาไม่เกิน 20 วัน จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท

โดยสถิติการขอรับเงินช่วยเหลือตั้งแต่ปี 2555-2559 มีคำร้องที่เข้าเกณฑ์ได้รับการช่วยเหลือ 1,933 ราย ส่วนใหญ่เป็นการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยรักษาต่อเนื่อง วงเงินชดเชย 20.41 ล้านบาท

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจัดทำระเบียบนี้ขึ้นมา เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานและความเป็นธรรมแก่ให้ผู้บริการสาธารณสุข โดยให้มีผลครอบคลุมถึงผู้ให้บริการสาธารณสุขภาครัฐในทุกสังกัดและบริการผู้ป่วยทุกสิทธิด้วย ครอบคลุมถึงข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่อื่นของโรงพยาบาลรัฐในสังกัดต่างๆ หรือหน่วยงานอื่นซึ่งได้รับมอบหมายให้บริการสาธารณสุข รวมถึงนิสิตนักศึกษาที่เข้ารับการศึกษาอบรมตามหลักสูตรทางการแพทย์หรือสาธารณสุขของสถาบันการศึกษาและได้รับมอบหมายจากอาจารย์ผู้ควบคุมในการให้บริการสาธารณสุขด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมงบประมาณในส่วนนี้ไว้ 5,000,000 บาทต่อปี การประมาณการดังกล่าวนั้นเป็นไปตามสถิติการพิจารณาคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขปีงบประมาณ 2556-2558 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ก่อนหน้านี้เคยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการช่วยเหลือ แต่ภายหลังถูกคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตีความว่าไม่สามารถใช้เงินจากกองทุนนี้สำหรับผู้ให้บริการได้ เพราะเป็นเงินสำหรับผู้รับบริการ จึงได้นำไปสู่การออกระเบียบกระทรวงการคลังฉบับนี้ที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้เสนอต่อ ครม.แทน (ดูรายละเอียดได้ ที่นี่)

ทั้งนี้ในช่วงปี 2556-2668 มีการจ่ายเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อช่วยเหลือผู้ให้บริการดังนี้

พ.ศ.2556 คำร้องที่เข้าหลักเกณฑ์ 454 ราย แบ่งเป็น กรณีได้รับบาดเจ็บ 448 ราย พิการ 4 ราย เสียชีวิต 2 ราย จำนวนเงินที่ให้การช่วยเหลือ 4,370,050 บาท

พ.ศ.2557 คำร้องที่เข้าหลักเกณฑ์ 420 ราย แบ่งเป็น กรณีได้รับบาดเจ็บ 415 ราย พิการ 2 ราย เสียชีวิต 3 ราย จำนวนเงินที่ให้การช่วยเหลือ 5,199,100 บาท

พ.ศ.2558 (กันยายน 2557-พฤษภาคม 2558) คำร้องที่เข้าหลักเกณฑ์ 314 ราย แบ่งเป็น กรณีได้รับบาดเจ็บ 312 ราย พิการ 2 ราย จำนวนเงินที่ได้รับการช่วยเหลือ 3,283,000 บาท