ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เหยื่อ รพ.เอกชน เปลือยความทุกข์ ถูกรีดค่ารักษาจากความผิดพลาดของโรงพยาบาลเอง ระบุ พยายามขอรายละเอียดค่าใช้จ่ายแต่กลับถูกปฏิเสธ สุดท้ายถูกฟ้องคดีซ้ำ

นายคมเดช โพธิ์สุวรรณ ผู้ร้องเรียนโรงพยาบาลเอกชน กล่าวในเวทีเสวนาสภาผู้บริโภค ประเด็น “CSR ความรับผิดชอบต่อสังคมในโรงพยาบาลเอกชน” เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2561 ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตอนหนึ่งว่า ได้รับผลกระทบจากการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นความผิดพลาดของโรงพยาบาล แต่ตัวเองต้องมาชำระค่ารักษาพยาบาลที่แพงมาก และยังถูกโรงพยาบาลเอกชนฟ้องร้องคดีด้วย

นายคมเดช กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยมีอาการปวดคอและชาซีกขวา พอไปตรวจและทำ MRI ก็พบว่าหมอนรองกระดูกคอแตกไปทับเส้นประสาท และได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้ผ่าตัด ส่วนตัวมีประกันสุขภาพอยู่แล้ว จึงลองให้โรงพยาบาลประเมินค่าใช้จ่ายสำหรับการผ่าตัดดู พบว่าอยู่ที่ประมาณ 4.7 แสนบาท ซึ่งประกันครอบคลุมเพียง 2.4 แสนบาทเท่านั้น

“ผมจึงลองเช็คดูว่าแพทย์คนนี้รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลอื่นอีกหรือไม่ จากนั้นก็ไปเช็คราคากับ call center โรงพยาบาลเหล่านั้น 2-3 แห่ง พบว่าค่ารักษาอยู่ที่ 3-4 แสนบาท คือประหยัดเงินได้อีกราวๆ 7 หมื่นบาท ขณะที่โรงพยาบาลเดิมก็ต่อรองว่าถ้าลดราคาเหลือสัก 4 แสนบาทถ้วนจะยอมรักษาหรือไม่ ซึ่งเราก็ตัดสินใจว่าย้ายโรงพยาบาลที่ถูกกว่าชัวร์ๆ ดีกว่า” นายคมเดช กล่าว

นายคมเดช กล่าวอีกว่า เมื่อย้ายไปทำการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งที่สอง เราคิดว่าเมื่อเช็คราคามาแล้วก็น่าจะเป็นไปตามนั้น จึงไม่มีการประเมินราคาค่ารักษาใดๆ อีก และก็ได้เซ็นต์ยินยอมเข้ารับการผ่าตัด ปรากฏว่าหลังการผ่าตัดออกมาสักครู่เริ่มรู้สึกปวดหัว จึงขอยาแก้ปวดแบบฉีดเพื่อจะได้นอนพักฟื้นยาวๆ ไม่ต้องคอยกินยาตลอดคืน เมื่อได้รับยาฉีดก็เริ่มคั่นเนื้อคั่นตัว จากนั้นแผลที่ผ่าตัดเริ่มบวม มีอาการไอ และไอเป็นเลือด สุดท้ายหายใจไม่ได้ หมดสติ และต้องเข้าไอซียู ซึ่งระหว่างที่มีอาการเบาไปจนถึงหนักนั้นพยายามของความช่วยเหลือจากแพทย์แล้ว แต่มีเพียงพยาบาลเท่านั้นที่มาดูอาการ

“ต้องเข้าไอซียูอีก 4-5 วันหลังผ่าตัด สรุปแล้วเรามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก รวมทั้งสิ้นกว่า 6 แสนบาท ซึ่งน่าตกใจมาก เมื่อสอบถามรายละเอียดค่ารักษาก็ไม่รับความร่วมมือ ไม่มีการแจกแจงรายละเอียดค่ารักษาใดๆ และเราก็คิดว่าทางโรงพยาบาลจะช่วยรับผิดชอบกับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากเขาด้วย แต่เขาก็ไม่ได้ช่วยอะไร ทั้งๆ ที่เราคือผู้เสียหาย ผมจึงยื่นคำขาดว่าขอดูรายละเอียดค่าใช้จ่ายก่อนจึงจะยอมจ่าย จากนั้นก็ขึ้นมาพักที่ห้องพัก แล้วก็มีเจ้าหน้าที่มาคุยว่าผมมีเงินเท่าไร ผมก็บอกว่ามีเงินเก็บอยู่ 1.5 แ สนบาท เขาจึงยื่นข้อเสนอมาว่างั้นเคลียร์กันก่อน 1.5 แสนบาท ที่เหลือค่อยไปเบิกจากประกัน แล้วเหลืออีกเท่าไรค่อยกลับมาว่ากัน” นายคมเดช กล่เาว

นายคมเดช กล่าวต่อไปว่า เมื่อเคลียร์ค่าใช้จ่าย 1.5 แสนบาทแล้ว เขาก็มีเอกสารใบรับสภาพหนี้ที่เหลือทั้งหมดให้เซ็น เมื่อเรากลับมาถึงบ้านทางโรงพยาบาลก็โทรมาตามทวงค่ารักษา ซึ่งจริงๆ แล้วผมเป็นผู้เสียหายจากการรักษา และผมก็จ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลไปแล้วรวมทั้งสิ้น 4.3 แสนบาท แต่ก็ยังมีส่วนที่โรงพยาบาลตามทวงอยู่ ส่วนตัวก็พยายามต่อรองและพยายามขอดูรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการรักษา แต่ทางโรงพยาบาลก็บ่ายเบี่ยงและยืนกรานที่จะไม่มอบให้

“โรงพยาบาลให้เวลา 1 เดือนในการจัดการค่ารักษา หากไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะฟ้องร้อง และที่สุดแล้วทางโรงพยาบาลก็ฟ้องร้อง ประเด็นก็คือผมคือผมเสียหายจากการรักษาที่ผิดพลาด และการรักษาก็แพงเกินกว่าที่โรงพยาบาลให้ข้อมูล คือเฉพาะค่าผ่าตัดก็เกินตัวเลขที่สอบถามกับ call center แล้ว ที่สำคัญที่สุดคือโรงพยาบาลไม่สามารถอธิบายได้ว่าค่ารักษาเหล่านั้นเป็นค่าอะไรบ้าง มีรายการอะไรบ้าง คือแจ้งเฉพาะยอดรวมเท่านั้น ถ้าเราไม่จ่ายก็จะฟ้อง” นายคมเดช กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘สภาผู้บริโภค’ จี้รัฐล้อมคอก รพ.เอกชน ขูดรีดค่ารักษาพยาบาล

สภาผู้บริโภคจี้ รพ.เอกชน รับผิดชอบต่อสังคม เหตุถูกร้องเรียนอื้อ

เครือข่ายผู้ป่วยฯ วอนสังคมรวมพลัง 5 หมื่นชื่อ ชง ‘นายกฯ’ ตั้งหน่วยงานคุมราคา รพ.เอกชน

ค้านปล่อยเสรีธุรกิจ รพ. ภาค ปชช.เรียกร้องรัฐตรา กม.คุมค่ารักษา

จดหมายแค่ฉบับเดียวทำให้ไม่ได้ ญาติคนไข้ โวย รพ.เอกชน ไม่ตั้งเรื่องเบิกเงิน 8 หมื่นบาทคืน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง