ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.พัฒนา รพ.ในสังกัดเป็น Smart Hospital นำระบบอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เพิ่มคุณภาพระบบบริการ การตรวจวินิจฉัย การรักษา และการเข้าถึงข้อมูลผู้รับการรักษา เริ่มจาก รพ.สังกัดกรมการแพทย์ และขยายผลไปยัง รพศ./รพท.ทั่วประเทศ

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ที่โรงพยาบาลราชวิถี นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการโรงพยาบาลราชวิถี ครั้งที่ 29 ประจำปี 2561 และปาฐกถาพิเศษเรื่อง Smart Healthcare โดยมีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขร่วมประชุมจำนวน 1,500 คน

นพ.เจษฎา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาความเป็นเลิศด้านระบบบริการ เพื่อให้เป็นโรงพยาบาล สมาร์ท ฮอสพิทัล (Smart Hospital) โดยนำเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมาใช้ ด้วยนโยบาย สมาร์ท เฮลท์แคร์ (Smart Healthcare) นำระบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาจัดเก็บระบบข้อมูลต่าง ๆ เช่น ข้อมูลด้านสุขภาพ ระบบยา ห้องปฏิบัติการ การเงินการคลัง การพัสดุ และบุคลากร เพื่อเชื่อมโยงเป็น Big Data สามารถนำมาวิเคราะห์ ประมวลผล และสังเคราะห์เป็นแผนการบริหารจัดการของโรงพยาบาล

นอกจากนี้ ยังนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Ehealth) เพิ่มคุณภาพการรักษา อาทิ การนัดหมาย การจัดคิว การเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเอง การจัดยา การส่งต่อผู้ป่วยไปต่างโรงพยาบาล เป็นต้น เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวินิจฉัย การรักษา และการเข้าถึงข้อมูลผู้รับการรักษา เพื่อลดความแออัด ลดการรอคอย มีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ โดยเริ่มจากโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ และขยายผลไปยังโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ

ในอนาคตได้วางแผนพัฒนานวัตกรรมการรักษา เช่น Nanotechnology Genome Editing Biotechnology การผ่าตัดโดยใช้การฉายภาพ 3 มิติ (3 D Visualization) การทำเฝือกด้วย 3 D printing การลดความเจ็บปวดโดยใช้ความจริงเสมือน (Virtual reality) รวมทั้งพัฒนาการเรียนการสอนให้เป็น Smart Education and Training และพัฒนาการวิจัย ด้วย Smart Research สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง รวมทั้งใช้ระบบสุขภาพทางไกล (Telehealth) โดยใช้ระบบการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตออนไลน์ เพื่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพระหว่างผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

“การขับเคลื่อน Smart Hospital ในระยะแรก ผู้ป่วยจะสามารถลงทะเบียนประวัติใหม่แบบออนไลน์ นัดพบแพทย์ในเวลาที่กำหนด รู้คิวการรักษา ซึ่งโรงพยาบาลจะต้องเตรียมพร้อมระบบดิจิทัลรองรับการเชื่อมต่อ จัดเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยยึดหลักผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ผู้ทำงานมีความสุข” นพ.เจษฎากล่าว