ในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน รวมกันแล้วกว่า 5 ล้านคน และอีกกว่า 415 ล้านคนยังต้องเผชิญกับโรคเบาหวาน ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 50 ที่ได้รับการวินิจฉัย ซึ่งหมายความว่ายังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนเพราะได้รับการวินิจฉัยล่าช้า
นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2583 ยอดผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเพิ่มขึ้นเป็น 642 ล้านคนทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานเฉลี่ยปีละกว่า 8,000 คน โดยในปี 2557 มียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.9 หรือ 4.8 ล้านคน สูงกว่าปี พ.ศ. 2552 ซึ่งมีร้อยละ 6.9 หรือ 3.3 ล้านคน ที่น่าเป็นห่วงคือ มีคนไทยมากถึง 2 ล้านคนที่เป็นเบาหวานแต่ไม่ทราบว่าตนเองเป็น และยังไม่เข้าถึงการรักษา และยังมีอีก 7.7 ล้านคน ที่อยู่ในภาวะกลุ่มเสี่ยงของโรคเบาหวาน
ประเทศไทยพบเบาหวานในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้ความชุกของโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในเขตเมือง คือ ความอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โดยภาวะอ้วนของคนไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และผู้หญิงไทยมีภาวะอ้วนมากเป็นอันดับ 2 ในเอเชียรองจากมาเลเซีย โดยมีสาเหตุจากการกินอาหารไม่ถูกสุขภาวะ และขาดการออกกำลังกาย
ผู้หญิงไทยมีสัดส่วนการเป็นโรคเบาหวานสูงกว่าเพศชายอยู่ที่ร้อยละ 9.8 และ 7.9 ตามลำดับ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความชุกสูงที่สุด ตามด้วยภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 43.1 ของผู้ที่เป็นเบาหวานไม่ทราบว่าตนเองเป็นเบาหวานมาก่อน เท่ากับว่าภาวะโรคเบาหวานในปัจจุบันมีคนที่เป็นเบาหวานแล้วมากกว่า 4 ล้านคน ทั้งยังพบกลุ่มเสี่ยงต่อเบาหวานอีกถึง 7.7 ล้านคน ซึ่งภายในร้อยละ 5-10 ต่อปีจะป่วยเป็นเบาหวาน
ความเสี่ยงของเบาหวานในผู้หญิง
ปี 2558 มีผู้หญิงเป็นเบาหวานถึง 199.5 ล้านคน และคาดว่าปี 2573 อาจเพิ่มสูงถึง 313.3 ล้านคน เบาหวานพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และ 2 ใน 5 ของหญิงที่เป็นเบาหวาน อยู่ในวัยเจริญพันธ์ (ประมาณ 60 ล้านคนทั่วโลก) IDF สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติประมาณว่ามีจำนวนถึง 20.9 ล้านคน หรือ 16.2% ของหญิงตั้งครรภ์ ที่มีภาวะน้ำตาลสูงในเลือด โดย 85.1% วินิจฉัยเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (gestational diabetes) และ7.4% เป็นเบาหวานชนิดอื่นที่ตรวจพบตอนตั้งครรภ์ ส่งผลให้ 1 ใน 7 ทารก คลอดจากแม่ที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ และหญิงตั้งครรภ์ที่อายุมากขึ้นจะยิ่งเสี่ยงต่อน้ำตาลสูงในเลือดมากขึ้น
โรคเบาหวานเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 9 ของผู้หญิงทั่วโลก คิดเป็นอัตรา 2.1 ล้านคนต่อปี สภาวะเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา เด็กหญิงและมารดาที่เป็นเบาหวานมีอุปสรรคในการเข้าถึงวิธีป้องกันโรคเบาหวาน การวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกและการเข้าถึงการดูแลรักษา ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น เนื่องจากอาหารและโภชนาการที่ไม่ดี การไม่มีกิจกรรมทางกาย การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนก่อให้เกิดอันตราย
ผู้หญิงทุก 2 ใน 5 คนที่เป็นเบาหวานอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ คิดเป็นจำนวนมากกว่า 60 ล้านคนทั่วโลก หญิงที่เป็นเบาหวานประสบปัญหามีบุตรยากอาจเกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์จากการตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 ทำให้อัตราการเสียชีวิตและทุพพลภาพของมารดาและทารกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เด็กที่เกิดมา 1 ใน 7 คน เกิดผลกระทบจากแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes; GDM) เช่น ตัวโตและคลอดลำบาก เป็นต้น
หญิงที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจเกิดภัยคุกคามที่รุนแรงต่อสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูงแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ อาจเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 หลังคลอด ซึ่งหญิงที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานในอนาคต 8.4% (ใน8ปี) เมื่อเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เป็นเบาหวาน 3.3%
จากข้อมูลการศึกษา retrospective, observational, cohort study รวบรวมหญิงตั้งครรภ์ทั้งสิ้น 53,109 ราย จาก National Health Screening Examination through the National Health Insurance Corporation ระหว่างปี 2545 ถึง 2546 และคลอดบุตรคนแรกในปี 2547 การศึกษาติดตามนานถึง ปี 2555 พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดเบาหวานในอนาคตของหญิงที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ได้แก่ มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน อ้วนตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ น้ำตาลก่อนอาหารเช้าสูง คลอเลสเตอรอลในเลือดสูง และประวัติเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์มาก่อน ดังนั้น หากเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ควรลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานในอนาคต โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ข้างต้น เช่น ลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร ลดน้ำตาลและไขมันในเลือด
เก็บความจาก
สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย.สถิติเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์.
ไทยรัฐออนไลน์. หญิงไทยอ้วนติดอันดับ 2 เอเชีย สสส.ชี้ เสี่ยงเป็นเบาหวานไม่รู้ตัว
- 2080 views