ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ดประกันสังคมมีมติไม่ปรับลดอัตราเงินสมทบตามข้อเสนอของคณะกรรมการค่าจ้าง หวั่นส่งผลต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนและเสถียรภาพกองทุน ขัดต่อกฎหมายประกันสังคม เลขาธิการ สปส. ผยเตรียมชงโครงการลงทุนทางสังคมเพื่อช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้าง SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแทน

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ซึ่งมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสุด 308 บาท และสูงสุด 330 บาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 และมติคณะกรรมการค่าจ้างที่เห็นชอบมาตรการลดผลกระทบผู้ประกอบการจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยได้เสนอให้สำนักงานประกันสังคมลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละร้อยละ 1 เป็นเวลา 1 ปี เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนสถานประกอบการ ว่า เรื่องการปรับลดเงินสมทบดังกล่าว คณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา เพื่อหารือเรื่องการปรับลดอัตราเงินสมทบตามมติคณะกรรมการค่าจ้างเสนอ และได้มีมติไม่ปรับลดอัตราเงินสมทบ

เนื่องจากการลดอัตราเงินสมทบเป็นระยะเวลา 12 เดือน หรือชะลอการจ่ายเงินสมทบเป็นระยะเวลา 6 เดือน จะส่งผลกระทบต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน และเสถียรภาพกองทุน รวมถึงขัดต่อกฎหมายของประกันสังคม และเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดจากค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น คณะกรรมการประกันสังคมได้ให้สำนักงานประกันสังคมเร่งเสนอโครงการลงทุนทางสังคมเพื่อช่วยเหลือนายจ้าง และลูกจ้าง SMEs ที่ได้รับผลกระทบ และนำมาเสนอคณะกรรมการประกันสังคมพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อว่า จากข้อแนะนำของคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษาฯ ที่ได้เร่งให้สำนักงานประกันสังคมเสนอโครงการลงทุนทางสังคมนั้น ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษาฯ โดยพิจารณาโครงการที่มีประโยชน์ต่อ นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ให้ได้รับประโยชน์เป็นสำคัญ