ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สืบเนื่องจากบทความของ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่องปลดปล่อยพลังวิชาชีพจัดการระบบสุขภาพ ซึ่งค่อนข้างเห็นด้วยในหลักการที่ให้โอกาสทั้ง 8 วิชาชีพด้านสุขภาพ มีโอกาสจัดการระบบร่วมกัน

แต่ในเรื่องของการกระจายอำนาจ โอนสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สอ.) และ รพ.สต.ให้ท้องถิ่นนั้น เห็นพูดกันมานานแล้ว แต่ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติเท่าใดนัก

พ.รบ.กระจายอำนาจมีมาตั้งปี 2542 ผ่านมา 20 ปีก็ไม่คืบหน้า เพราะต่างฝ่ายต่างอ้างว่าอีกฝ่ายไม่พร้อม ผลกรรมจึงตกอยู่ที่ รพ.สต. เพราะคน เงิน ของ ที่ให้มาก็ไม่เพียงพอ จะบริหารจัดการตนเองก็ไม่ได้ เพราะถูกจัดสรรมาผ่านหลายหน่วยงาน หลายขั้นตอน เปรียบเสมือน ไอติมที่ให้ลงมาเป็นทอดๆ มาถึง รพ.สต.ก็เหลือแต่ไม้ไอติม

จน รพ.สต.ต้องใช้วิธีช่วยเหลือตนเอง คือการทำผ้าป่าหรือทำบุญวิธีต่างๆ เพื่อให้ชุมชนและภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมดูแลและพัฒนา รพ.สต. แบบเดียวกับที่เรียกในภายหลังประชารัฐนั่นเอง

เพราะฉะนั้น รพ.สต.ประชารัฐเกิดขึ้นมานานแล้ว ก่อนที่จะมีนโยบายนี้อีก สืบเนื่องจาก รพ.สต.ขาดการสนับสนุน คน เงิน ของให้เหมาะสมกับภาระงานที่มี

เวลาพูดถึงภาวะขาดทุนจึงมักพูดแต่ รพ. ไม่เคยพูดถึง รพ.สต.เลย แถมในบางทียังกล่าวอ้างว่าการโอนงบลง รพ.สต.เป็นเหตุให้ รพ.ขาดทุนอีกด้วย ทั้งๆ ที่เป็นงบของ รพ.สต.โดยตรงที่มาฝากในบัญชี cup เพื่อให้ รพ.โอนลงไป รพ.สต.อีกทีนึง ไม่ใช่เงินของ รพ.แต่เพียงผู้เดียว อย่างที่เข้าใจผิดกัน

แต่หากรัฐ/กระทรวงสาธารณสุข/สปสช. เปลี่ยนวิธีการ ให้ รพ.สต.สามารถบริหารจัดการตนเอง ด้วยการสนับสนุนบุคลากรให้ครบตามภาระงาน โอนงบตรงลง รพ.สต. และสนับสนุนวัสดุครุภัณฑ์ที่จำเป็นตามสภาพปัญหาและรองรับนโยบายจากทุกกรมกองที่สั่งงานลงไป

การปฏิรูประบบสุขภาพ ต้องมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา การออกนโยบายใดๆ ต้องคำนึงถึงหน่วยงานด้านสุขภาพทุกระดับรวมถึง รพ.สต. ซึ่งเป็นหน่วยงานฐานรากของระบบสุขภาพไทย ที่มีหมออนามัยทำงานในพื้นที่มายาวนานนับ 100 ปี

ทั้งนี้เห็นด้วยกับ อ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในเรื่องการจัดการระบบสุขภาพ ควรให้แต่ละวิชาชีพมีส่วนในการจัดการระบบด้วย รวมทั้งมีส่วนในการออกแบบแผนด้านสุขภาพแห่งชาติ 20 ปี เพื่อวางแผนกำลังคน และจัดสรรทรัพยากร สิทธิ ค่าตอบแทน ความก้าวหน้า ให้ทุกวิชาชีพอย่างทัดทียมกัน จะได้เสริมสร้างขวัญกำลังใจให้ทีมสุขภาพอย่างแท้จริง

การออกระเบียบ กฏหมาย หรือข้อบังคับใดๆ ควรใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกวิชาชีพ หาใช่การออกกฏระเบียบ เพื่อเอื้อแค่วิชาชีพใด วิชาชีพหนึ่งเท่านั้น อย่างเช่นที่ทำกันในปัจจุบัน

ผู้เขียน : ริซกี สาร๊ะ กรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชน ๐๗.๐๓.๖๑