ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จัดทำคู่มือการจัดกิจกรรมรู้เท่าทันสื่อด้านสุขภาพ สำหรับเด็กประถมศึกษา (ป.4-6) อายุ 10-12 ปี เพื่อเด็กและเยาวชนมีความรู้ เสพสื่อที่เหมาะสมอย่างสร้างสรรค์ในโลกยุคดิจิทัล

นายชาญยุทธ พรหมประพัฒน์ ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวว่า ในปัจจุบันที่เรียกว่าโลกยุคดิจิทัล สื่อต่างๆ มีทั้งด้านดีและด้านลบ ด้านลบเด็กอาจเกิดความเข้าใจผิดจากข้อมูลด้านสุขภาพที่มีการโอ้อวด เชิญชวนทำให้เกิดการหลงเชื่อได้ง่าย เช่น การโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ให้กินขนมขบเคี้ยวเพื่อรับของแถม และการชิงโชค การซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่มีเครื่องหมาย อย. ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดการหลงเชื่อในการซื้อสินค้าซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วนในเด็ก และอันตรายจากสารปลอมปนในสินค้าที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน เนื่องจากเด็กและเยาวชนที่ยังขาดวุฒิภาวะ ขาดความสามารถในการคิดวิเคราะห์เนื้อหาที่มากับสื่ออย่างเหมาะสม แม้แต่พ่อแม่ผู้ปกครองในยุคปัจจุบันที่เลี้ยงลูกท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสื่อมากมายรอบตัว ทั้งดีและไม่ดี ก็ยังขาดความรู้ความ เข้าใจในเรื่องของการเท่าทันสื่อ ทำให้ไม่สามารถชี้แนะบุตรหลานได้

นายชาญยุทธ กล่าวต่อว่า กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้จัดทำคู่มือ “การจัดกิจกรรมรู้เท่าทันสื่อด้านสุขภาพ สำหรับเด็กประถมศึกษา (ป.4-6) อายุ 10-12 ปี” เพื่อให้พ่อแม่ แกนนำสุขภาพครอบครัว/อาสาสมัครครอบครัว (อสค.) ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักพัฒนาสังคม ผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชน แกนนำเด็ก เยาวชน และกลุ่มสื่อ ใช้เป็นคู่มือติดอาวุธให้กับนักเรียนประถมศึกษา โดยการทำกิจกรรมผ่านการเรียนรู้ผ่านองค์ประกอบต่างๆ ได้แก่ เปิดรับ เข้าถึง เข้าใจ วิเคราะห์ ประเมิน และใช้ประโยชน์ ซึ่งคู่มือดังกล่าวเป็นแนวทางที่อ่านเข้าใจง่าย ปฏิบัติได้จริง เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้และทักษะในการเข้าถึง เข้าใจ วิเคราะห์ ประเมินและใช้สื่อและเนื้อหาที่เหมาะสมอย่างสร้างสรรค์

ทั้งนี้ ประชาชน ครอบครัว ครู และผู้ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดคู่มือการจัดกิจกรรมรู้เท่าทันสื่อด้านสุขภาพ สำหรับเด็กประถมศึกษา (ป.4-6) อายุ 10-12 ปี ได้ทางเว็บไซต์ของกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (www.hed.go.th)