ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขจับมือทุกภาคส่วนยุติปัญหาวัณโรคภายในปี 2578 ตามเป้าหมายของการพัฒนาแบบยั่งยืน ด้วย 4 แนวทางหลักคือ “นโยบายเข้มแข็ง เสริมแรงด้วยความรู้ รวมหมู่เป็นเจ้าของ ดำเนินการต่อเนื่อง” พร้อมเริ่มต้นกิจกรรมค้นหาผู้ป่วยวัณโรคใน 7 กลุ่มเสี่ยง ในวันวัณโรคสากล

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ ผู้แทนสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ Dr.Daniel Kertesz ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นายอนุสรณ์ สมศิริ รองผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวเนื่องในวันวัณโรคสากล ปี 2561

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ประเทศไทยโดยนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมแสดงเจตจำนงที่จะพัฒนาประเทศสู่เป้าประสงค์ของการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development Goal: SDG) ในที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายน 2558 ตั้งเป้ายุติวัณโรค ภายในปี 2578 เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาแบบยั่งยืน ในการแก้ไขปัญหาวัณโรคนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน โดยแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว มี 4 แนวทาง คือ

1.“นโยบายเข้มแข็ง” ด้วยแผนยุทธศาสตร์การยุติปัญหาวัณโรคระดับชาติที่รับรองโดยคณะรัฐมนตรี

2.“เสริมแรงด้วยความรู้” การใช้ความรู้เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด ปัจจุบันมีเครือข่ายนักวิจัยไทยรวมตัวกันจัดตั้ง Thai TuRN (Thai Tuberculosis Network) ร่วมกันพัฒนายาสูตรใหม่ที่ใช้เวลารักษาสั้นกว่าเดิม ใช้พันธุศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อวินิจฉัยและรักษาวัณโรค รวมทั้งศึกษาปัจจัยทางสังคมที่จะช่วยลดการรังเกียจและตีตรา

3.“รวมหมู่เป็นเจ้าของ” ทุกภาคส่วนและประชาชน ต้องเข้ามาร่วมดูแลผู้ป่วยวัณโรค

4.“ต้องก้าวต่อเนื่อง” ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง เพราะวัณโรคเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องติดตามในระยะยาว

เนื่องในโอกาสวันที่ 24 มีนาคมนี้ เป็นวันวัณโรคสากล (World TB Day) ปี 2561 ได้กำหนดคำขวัญสื่อไปถึงทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์คือ WANTED: LEADERS FOR A TB-FREE WORLD (You can make history. End TB) หรือ “คุณคือผู้นำแห่งการยุติวัณโรค เพื่อเมืองไทยปลอดวัณโรค” เชิญชวนทุกคนร่วมสร้างประวัติศาสตร์ในการยุติวัณโรคร่วมกัน โดยในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ทุกระดับ ภาคมหาวิทยาลัยต่างๆ องค์กรเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป เริ่มต้นกิจกรรมคัดกรองค้นหาวัณโรคใน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สัมผัสร่วมบ้าน, ผู้ต้องขังในเรือนจำ, ผู้ติดเชื้อเอชไอวี, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี, บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และแรงงานข้ามชาติ

เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการควบคุมป้องกันวัณโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานการดำเนินงานวัณโรคแห่งชาติ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และลดอุบัติการณ์วัณโรคลงอย่างน้อยร้อยละ 12.5 ต่อปี เหลือร้อยละ 88 ต่อแสนประชากร ภายในปี พ.ศ. 2564 และเหลือร้อยละ 10 ต่อแสนประชากร ภายในปี พ.ศ. 2578