ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยมีเด็กเกิดใหม่อยู่ในกลุ่มอาการดาวน์ปีละ 1,000 คน แนะพ่อแม่หลีกเลี่ยงกล่าวโทษกัน หันมาให้กำลังใจให้ความรักความอบอุ่นเด็ก หมั่นกระตุ้นพัฒนาการเด็กตั้งแต่ช่วงขวบปีแรก จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการและระดับไอคิวดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้ เรียนหนังสือได้ พร้อมย้ำเตือนหญิงที่แท้งลูกบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ และหญิงตั้งครรภ์เมื่ออายุขึ้นเลข 4 เป็นกลุ่มเสี่ยงให้กำเนิดลูกโครโมโซมผิดปกติ แนะให้รีบฝากครรภ์โดยเร็ว

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 ที่สถาบันราชานุกูล กทม. นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดกิจกรรมเนื่องในวันดาวน์ซินโดรมโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 21 มีนาคม ทุกปี ในปีนี้เน้นในหัวข้อ ดาวน์ดวงนี้ที่สร้างได้ เพื่อรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนในการป้องกันปัญหาและการยอมรับผู้ที่เป็นดาวน์ซินโดรม ให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข พร้อมทั้งเผยแพร่แบบอย่างของบุคคลดาวน์ซินโดรมที่ประสบผลสำเร็จด้านการศึกษาและอาชีพ

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome) เป็นโรคทางพันธุกรรมไม่มียารักษา สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 ในช่วงที่เซลล์แบ่งตัวหลังจากไข่และอสุจิปฏิสนธิกัน ทั่วโลกพบในเด็กเกิดใหม่ประมาณ 1 ต่อ 1,000 คน กว่าร้อยละ 80 เกิดจากแม่อายุ 35 ปีขึ้นไป ส่วนไทยมีหญิงให้กำเนิดลูกที่เป็นกลุ่มอาการดาวน์ปีละ 800-1,000 คนจากหญิงคลอดที่มีปีละประมาณ 800,000 คน

ลักษณะเฉพาะของเด็กกลุ่มนี้ซึ่งเหมือนกันทั่วโลกนี้มี 4 ประการ คือ

1) เชาวน์ปัญญาต่ำ ทำให้มีปัญหาด้านพัฒนาการ เช่น พูดช้า

2) มีปัญหาในการใช้กล้ามเนื้อ ตัวอ่อนปวกเปียก กล้ามเนื้อหย่อน ข้อต่อหลวม

3) มีโครงสร้างทางใบหน้าที่โดดเด่นชัดเจน เช่น หน้าแบน หัวเล็ก หูเล็ก หูบิดผิดรูปร่าง ปากเล็ก ตาเรียว หางตาเฉียงขึ้น มีจุดสีขาวอยู่ที่ตาดำ คอสั้น แขนขาสั้น ตัวเตี้ยกว่าคนในวัยเดียวกันเมื่อโตขึ้น

และ 4) มีปัญหาสุขภาพตั้งแต่กำเนิดหลายเรื่อง เช่น ผนังหัวใจผิดปกติ มีปัญหาการมองเห็น ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ หากไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือโดยเร็วและเหมาะสม จะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่รุนแรงและซับซ้อน ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงดูและการใช้ชีวิตของเด็กในระยะยาว

คาดขณะนี้จะมีคนไทยอยู่ในกลุ่มอาการดาวน์ 70,000-80,000 คนทั่วประเทศ และจัดอยู่ใน 1 ใน 8 ประเภทของผู้พิการไทย

นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า เด็กกลุ่มอาการดาวน์ส่วนใหญ่ร้อยละ 85 มีระดับไอคิวต่ำระดับน้อยถึงปานกลางอยู่ที่ 50-70 จุด ระดับไอคิวยิ่งต่ำเท่าใดพัฒนาการจะล่าช้ามากขึ้น หัวใจหลักของการดูแลจะเน้นที่การส่งเสริมพัฒนาการเพื่อให้เด็กช่วยเหลือตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยเด็กสามารถมีพัฒนาการดีขึ้นได้ หากพ่อแม่กระตุ้นตั้งแต่ภายในขวบปีแรกและต่อเนื่องจนถึงอายุ 5 ขวบ และจะช่วยลดความรุนแรงของพัฒนาการและระดับไอคิวได้ เด็กบางคนสามารถเรียนหนังสือจนถึงระดับปริญญาตรี มีอาชีพและรายได้แบ่งเบาภาระผู้ปกครองได้

“กลุ่มอาการดาวน์ที่พบในไทยมี 4 แบบ ที่พบมากที่สุดคือไตรโซมี่ 21 (Trisomy21) มีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 นี้สามารถวินิจฉัยได้ทั้งขณะตั้งครรภ์ผ่านการคัดกรองขณะตั้งครรภ์และตามด้วยการตรวจวินิจฉัยยืนยัน ดังนั้นจึงขอให้หญิงทุกคนรีบฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวและว่า หญิงที่แท้งลูกบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ และหญิงตั้งครรภ์เมื่ออายุขึ้นเลข 4 เป็นกลุ่มเสี่ยงให้กำเนิดลูกโครโมโซมผิดปกติ แนะให้รีบฝากครรภ์โดยเร็ว

ด้าน พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า พ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในกลุ่มอาการดาวน์ขอให้หลีกเลี่ยงการกล่าวโทษตัวเองและคู่สมรสว่าเป็นสาเหตุ แต่ควรให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็ก จะทำให้เด็กมีความเชื่อมั่น จะส่งผลต่อพัฒนาการที่ดี เด็กดาวน์สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ผ่านการศึกษาและการดูแลที่เหมาะสม โดยเด็กกลุ่มนี้จะมีพัฒนาการเป็นขั้นตอนเช่นเดี่ยวกับเด็กทั่วไปแต่จะช้ากว่าเด็กปกติทั่วไปประมาณ 2 ปี โดยเด็กจะเริ่มเดินได้อายุประมาณ 2 ขวบ เริ่มพูดที่อายุประมาณ 2 ขวบถึง 2 ขวบครึ่ง สามารถควบคุมการขับถ่ายที่อายุ 2 ปี 10 เดือน พ่อแม่สามารถส่งเสริมได้โดยให้เด็กช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันอย่างเต็มศักยภาพ เช่น อาบน้ำ แต่งตัวเอง ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน จนหลายคนสามารถเข้าโรงเรียนและเรียนในชั้นเรียนปกติได้ บางรายอาจต้องได้รับการศึกษาพิเศษ บางรายจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย และจำนวนหนึ่งเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้

สำหรับกลุ่มเด็กอาการดาวน์ที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ตั้งแต่วัยก่อนเรียน สถาบันราชานุกูลได้จัดโปรแกรมฟื้นฟูทางการศึกษาในช่วงอายุ 6 ปีขึ้นไป จะช่วยให้เด็กดาวน์อ่าน เขียน คำนวณอย่างง่ายๆ ได้ แล้วส่งต่อให้สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทยส่งเสริมให้ได้ทำงานในสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนในปี 2561 นี้ ได้รับการจ้างงาน 1,039 อัตรา เพิ่มจากปี 2559 ที่มี 654 อัตรา

พญ.มธุรดา กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดกิจกรรมเนื่องในวันดาวน์ซินโดรมโลกในปี 2561 นี้ สถาบันราชานุกูลร่วมกับสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาฯ จัด 4 กิจกรรม ประกอบด้วย

1. กิจกรรมให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนในวันที่ 21 มีนาคม 2561

2.กิจกรรมการเดินแฟชั่นโชว์ของวัยรุ่นกลุ่มอาการดาวน์ ในชื่อ “The Face of Down” ซึ่งฝึกสอนโดยคุณกวาง ฟ้ารุ่ง ยุติธรรม มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2550 เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กดาวน์แสดงความสามารถให้เป็นที่รับรู้แก่สาธารณชนและเสริมสร้างทัศนะคติที่ดีต่อบุคคลกลุ่มอาการดาวน์ในวันที่ 28 หรือ 29 เมษายน 2561 ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน

3.กิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศลเพื่อดาวน์ซินโดรม ในวันที่ 2 มิถุนายน 2561 ณ สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์

และ 4.กิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา เปิดแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยสำหรับชุมชน “ฟาร์มสุข” ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพราชานุกูล (บางพูน) โดยได้รับการสนับสนุนจาก AIS