ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พล.อ.ฉัตรชัย ประชุมบอร์ด สสส.สัญจร จ.สงขลา ชี้โมเดล “มัสยิดครบวงจร” ตอบโจทย์สร้างสุขภาพมุสลิม วางเป้าลดอัตราผู้สูบ หลังพบควักเงินจ่ายค่ายาสูบมากถึง 1,272 บาท/ครัวเรือน เล็งหนุนเทศบาลตำบลปริก เป็นศูนย์เรียนรู้จัดการสุขภาวะชุมชนเครือข่าย 5 จังหวัดชายแดนใต้

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุน สสส.สัญจร ณ ห้องประชุมสำนักงานธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาผลการดำเนินงานและแผนยุทธศาสตร์ประชากรกลุ่มเฉพาะ ซื่งจากการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพ การบริโภคยาสูบในมุสลิมไทย พบว่า อัตราการบริโภคยาสูบและค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคยาสูบสูงถึงปีละ 1,272 บาท / ครัวเรือน สูงกว่าค่าเฉลี่ยประชากรทั่วไปร้อยละ 15 หรือปีละ 1,092 บาท/ครัวเรือน โดยเฉพาะการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ปี 2558 พบมีผู้บริโภคยาสูบร้อยละ 27.6 ถือเป็นอัตราสูง และมีผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองที่บ้านร้อยละ 43.7 ทั้งยังพบว่า คุณภาพชีวิตของมุสลิมไทยในหลายดัชนีชี้วัดยังด้อยกว่าประชากรทั่วไป เช่น ความเสี่ยงต่อภาวะเกิดโรคความดันโลหิตสูงถึงร้อยละ 9.9 ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ร้อยละ 9.1 ฐานะทางเศรษฐกิจระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งของมุสลิมไทยอาศัยอยู่ ล้วนส่งผลต่อโอกาสในการศึกษา และการมีสุขภาวะที่ดี

รองนายกฯ กล่าวว่า สสส. ได้สนับสนุนให้เกิดการบูรณาการทำงานในพื้นที่ โดยใช้แนวทางการสร้างเสริมสุขภาวะที่สอดคล้องวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม และหลักการของศาสนาอิสลาม เช่น การลดอัตราการบริโภคยาสูบ โดยใช้หลักคำสอนทางศาสนาร่วมกับกระบวนการควบคุมยาสูบ การพัฒนาศักยภาพให้มัสยิดเป็นศูนย์กลางในการส่งผ่านความรู้ด้านสุขภาพไปยังชุมชน หรือ “มัสยิดครบวงจร” การพัฒนาชุมชนรักษ์สุขภาวะเพื่อเพิ่มโอกาสทางเลือกอาชีพ ที่ช่วยส่งเสริมรายได้ การบรรเทาปัญหาความยากจนด้วยการบริหารจัดการช่วยเหลือกันภายในชุมชน ปัจจุบันได้พัฒนาความร่วมมือดำเนินการตามแนวทางมัสยิดครบวงจรแล้ว 30 แห่งใน จ.สงขลา จากมัสยิดครบวงจรทั้งหมดในภาคใต้ 135 แห่ง โดยหนึ่งในกลไกที่สำคัญของมัสยิดครบวงจร คือ จะต้องเป็น “มัสยิดปลอดบุหรี่” ที่เน้นกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ถึงพิษภัยจากการสูบบุหรี่และการได้รับควันบุหรี่มือสอง โดยผู้นำศาสนาใช้คุฎบะฮฺลาคอมรฺ ที่มีเนื้อหาถึงภัยร้านของบุหรี่ ยาสูบ บุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่หนีภาษี และบารากู่ในการเทศนา อย่างน้อย 2 ครั้ง /เดือน การจัดนิทรรศการและมุมให้ความรู้ รวมถึงกิจกรรมในการช่วยเลิกบุหรี่

“การดำเนินงานมัสยิดครบวงจร เป็นกลไกสำคัญในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสนับสนุนให้เกิดมัสยิดปลอดบุหรี่นอกจากจะช่วยลดจำนวนผู้สูบแล้ว ยังสร้างให้เกิดมาตรการทางชุมชน โดยร้านขายของชำบริเวณใกล้เคียงมัสยิดติดประกาศไม่ขายบุหรี่ รวมถึงกลุ่มสตรี ตลอดจนชาวชุมชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการลดจำนวนนักผู้สูบบุหรี่ให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนั้นได้ขยายแนวร่วมไปยังมัสยิดในพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ระหว่างกัน โดยปัจจุบันมีมัสยิดปลอดบุหรี่ ทั้งสิ้น 1,114 แห่ง จากจำนวนมัสยิดทั่วประเทศ 3,913 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 28.47” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า นอกจากนั้นที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานและยุทธศาสตร์แผนสุขภาวะชุมชน ซึ่งเน้นนำองค์ความรู้เชิงประเด็นไปขับเคลื่อนระดับพื้นที่เพื่อให้เกิดการผลักดันในระดับนโยบายที่เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะ “ตำบลสุขภาวะ” โดยเทศบาลตำบลปริก ถือเป็นต้นแบบการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ที่เน้นชุมชนเป็นศูนย์กลาง และเกิดผลลัพธ์ความสำเร็จอย่างชัดเจน อาทิ การจัดการขยะ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของศูนย์เด็กเล็ก โดยเป็นต้นแบบให้เครือข่ายชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้กว่า 120 แห่ง นำเอาแนวคิดและรูปแบบวิธีการทำงานของเทศบาลตำบลปริกไปขยายผลปรับใช้ในพื้นที่ของตน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับและสามารถหยั่งรากเป็นวิถีที่ยั่งยืนในชุมชนของตนเองได้ รวมทั้งทำให้เกิดแกนนำในการขับเคลื่อนงานตำบลสุขภาวะในระบบต่างๆ เช่น ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ระบบอาสาเพื่อดูแลผู้พิการและผู้สูงวัย โดยอยู่ระหว่างสนับสนุนเทศบาลตำบลปริกเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการสุขภาวะชุมชนสำหรับเครือข่ายในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนของพื้นที่ภาคใต้

“จากการดำเนินงานของ สสส.ในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะในพื้นที่ต่างๆ ต้องคำนึงถึงการขยายผลพื้นที่ต้นแบบที่ดำเนินงานไว้ดีแล้วเพื่อให้เกิดการขยายต่อให้กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมถึงจะต้องพิจารณาถึงการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาในประเด็นต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคต เช่น การพัฒนาเด็กตามช่วงวัย ทำอย่างไรจะพัฒนาเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพในการพัฒนาประเทศ” รองนายกฯ กล่าว