ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอรุ่งฤทัย เผยยก “สถาบันพระบรมราชชนก” เป็น “สถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง” ส่งผลเกิดความคล่องตัวบริหาร พร้อมยกระดับงานวิชาการ ตอบสนองการผลิตกำลังคนในระบบสุขภาพ รองรับแผนการจัดระบบบริการสุขภาพของ สธ. เบื้องต้นเปิดสอน 2 คณะก่อน คณะพยาบาลและคณะเวชศาสตร์ พร้อมระบุ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนกฯ ยังรอส่งกฤษฎีกาและนำเข้าสู่การพิจารณา สนช. ก่อน ระหว่างนี้สถาบันฯ อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม

นพ.รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์

จากมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ที่ได้เห็นชอบในหลักการ “ร่างพระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. ...” เพื่อยกสถาบันพระบรมราชชนก ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง นั้น นพ.รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถาบันพระบรมราชชนกได้เริ่มต้นผลิตพยาบาลเมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว โดยในช่วงแรกเป็นการผลิตพยาบาลและพยาบาลผดุงครรภ์ที่เป็นพยาบาลเทคนิค 2 ปี ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาและขยายการผลิตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันวิทยาลัยการพยาบาลในสังกัด 30 แห่ง และวิทยาลัยวิชาชีพสาธารณสุขและแขนงอื่นๆ อีก 9 แห่ง รวมวิทยาลัยในสังกัด 39 แห่งกระจายในภูมิภาคทั่วประเทศ เบื้องต้นเป็นการผลิตบุคลากรเพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนให้กับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยปี 2537 ได้รับพระราชทานชื่อ “สถาบันพระบรมราชชนก” และได้ดำเนินการต่อ

ทั้งนี้ต่อมา พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2546 ประกาศใช้ บังคับให้สถาบันการศึกษาที่จัดหลักสูตรการสอนต้องเป็นนิติบุคคลและมีสภามหาวิทยาลัย โดยในระหว่างการยกระดับให้เป็นสถาบันอุดมการศึกษาเฉพาะทาง เพื่อให้นักศึกษาของสถาบันได้รับการประสาทปริญญาตรี การจัดการศึกษาที่ผ่านมาจึงต้องดำเนินการในรูปแบบสมทบร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในแต่ละภูมิภาค อาทิ ภาคเหนือดำเนินการจัดการศึกษาสมทบร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคเหนือตอนล่างร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ภาคกลางร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคตะวันออกร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา และภาคใต้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

นพ.รุ่งฤทัย กล่าวว่า การดำเนินการยกระดับเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น เนื่องจากสถาบันพระบรมราชชนกมีความผูกพันกับ สธ.มานาน โดยผลิตบุคลากรให้กับกระทรวงมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งร่วมแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรในพื้นที่ เช่น ในช่วงเมื่อ 5-6 ปีก่อน ภาคใต้เกิดวิกฤตขาดแคลนพยาบาลอย่างมาก สถาบันพระบรมราชชนกจึงได้เพิ่มอัตรากำลังผลิตจำนวน 3,000 คน จากเดิมที่ผลิตเพียง 2,000 คน ทำให้ในช่วงระยะเวลา 4 ปีมีการผลิตพยาบาลจำนวนมากถึง 5,000 คน ส่งผลให้ปัญหาขาดแคลนพยาบาลในพื้นที่ภาคใต้ลดลง

ขณะเดียวกันสถาบันพระบรมราชชนกมีบุคลากรและคณาจารย์ระดับปริญญาโท และปริญญาเอกกว่า 400 คน กระจายอยู่ในวิทยาลัยทั้ง 39 แห่ง ล้วนเป็นบุคลากรทรงคุณวุฒิที่มีคุณค่า การยกระดับเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องความก้าวหน้ารวมทั้งสิทธิต่างๆ ที่ควรได้รับแล้ว ยังส่งเสริมงานด้านวิชาการเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้มีการยกระดับด้านวิชาการ ที่ท้ายสุดประชาชนจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์

“เมื่อสถาบันพระบรมราชชนกมีกฎหมายรองรับแล้ว ผลที่เกิดขึ้นจะทำให้สถาบันมีความคล่องตัวในการบริหารเพิ่มขึ้น รวมถึงการผลิตบุคลากรเพื่อตอบสนองการดำเนินงานของ สธ. เช่น ขณะนี้เรามีปัญหาขาดแคลนนักรังสีเทคนิคในหน่วยบริการ หากให้สถาบันฯ ผลิตขณะนี้คงยังทำไม่ได้เพราะไม่ใช่นิติบุคคล ต้องดำเนินการในรูปแบบหลักสูตรสมทบร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่น แต่เมื่อมีกฎหมายรองรับเองแล้ว สถาบันฯ จะสามารถจัดหลักสูตรและดำเนินการเรียนการสอนเองได้ รวมทั้งสาขาอื่นที่ขาดแคลน เรียกว่ามีความคล่องตัวเพิ่มขึ้น ทั้งอนาคตยังเป็นการตอบสนองการผลิตบุคลากร 19 สาขาวิชาชีพ ตามแผนการจัดระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) 19 สาขา ของ สธ. ซึ่งสถาบันพระบรมราชชนกเป็นสถาบันหลักในการผลิตบุคลากร” ผอ.สถาบันพระบรมราชชนก กล่าวและว่า ปัจจุบันบุคลากรที่สถาบันฯ ผลิตร้อยละ 70-80 ได้กระจายอยู่ในหน่วยบริการของ สธ. 890 แห่งทั่วประเทศ

ต่อข้อซักถามว่า ตามร่าง พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. ... นี้ จะรวมถึงการผลิตแพทย์ด้วยหรือไม่ นพ.รุ่งฤทัย กล่าวว่า ในร่างกฎหมายเดิมเราขอเฉพาะพยาบาลและวิชาชีพสาธารณสุขเท่านั้น แต่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) มองว่าควรให้การจัดการเรียนการสอนครอบคลุมถึงวิชาชีพด้านแพทย์ด้วย แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงการผลิตแพทย์ เนื่องจากขณะนี้ใน สธ.มีสำนักโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท (สบพช.) อยู่แล้ว ส่วนในอนาคตจะมีการปรับอย่างไรหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งแต่ละสาขาวิชาชีพต่างเกื้อหนุนทำงานร่วมกันอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อยกระดับเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางแล้ว การผลิตบุคลากรจะยังคงเน้นเฉพาะการผลิตให้ สธ.เท่านั้นหรือไม่ นพ.รุ่งฤทัย กล่าวว่า หากกำลังผลิตมีเหลือก็จะป้อนให้กับส่วนอื่นด้วย ซึ่งปัจจุบันเราได้มีการผลิตพยาบาลในบางโควต้าให้กับ รพ.บ้านแพ้ว และ รพ.ชลประทาน เนื่องจากเป็นความร่วมมือในการส่งนักศึกษาไปฝึกงาน แต่ในอนาคตหากรูปแบบโครงสร้างระบบสาธารณสุขเปลี่ยนไป มีการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นเพิ่มขึ้น การผลิตบุคลากรคงต้องเป็นไปตามความต้องการของแต่ละท้องถิ่น แต่เบื้องต้นยังคงเน้นการผลิตให้กับ สธ.ก่อน

ส่วนโครงสร้างของสถาบันพระบรมราชชนกนั้น นพ.รุ่งฤทัย กล่าวว่า คงต้องปรับเปลี่ยนไปตามกฎหมาย เดิมเราขึ้นอยู่กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่เมื่อกฎหมายบังคับใช้ สถาบันฯ จะขึ้นอยู่กับ รมว.สาธารณสุข โดยตรง มีสถานะเทียบเท่ากรมหนึ่งใน สธ. โดยการบริหารจะมีสภาสถาบัน มีอธิการบดีและรองอธิการบดี เริ่มแรกได้ออกแบบให้เปิดสอน 2 คณะก่อน คือ คณะพยาบาล และคณะเวชศาสตร์ ส่วนงบประมาณดำเนินการได้ขอจัดสรรจำนวนเท่าเดิม แต่หากมีการเพิ่มกำลังผลิตบุคลากรเพิ่มเติม การเปิดเพิ่มหลักสูตรการสอน และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตคงต้องพิจารณาของบเพิ่มเติม ส่วนตำแหน่งบรรจุราชการเพื่อรองรับการผลิตบุคลากร เป็นเรื่อง สธ.ทำความตกลงกับสำนักงานคณะกรรมข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โดยสถาบันฯ มีหน้าที่ในการผลิตตามความต้องการ สธ.เท่านั้น สำหรับในส่วนของบุคลากรสถาบันฯ นั้น จะแบ่งเป็น 2 สถานะ คือ สถานะข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัย โดยในอนาคตบุคลากรในสัดส่วนข้าราชการก็จะลดลง

“ในการยกระดับเพื่อเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง เราได้ดำเนินการมาหลายปีแล้วรวมถึงการผลักดันออกกฎหมายรองรับ แม้ว่าขณะนี้ทาง ครม.จะมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนกฯ แล้ว แต่ยังมีขั้นตอนที่ต้องส่งไปกฤษฎีกา และนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีก ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลา โดยในระหว่างนี้สถาบันฯ คงต้องมีการดำเนินการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมไว้” ผอ.สถาบันพระบรมราชชนก กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยกสถานะ ‘สถาบันพระบรมราชชนก’ เป็นอุดมศึกษาเฉพาะทาง ผลิตบุคลากรตามความต้องการ สธ.