ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เผยผลดำเนินงาน “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ฯ บัตรทอง ปี 60” ครอบคลุมบริการกลุ่มเป้าหมายเกือบ 100% หรือกว่า 9.12 แสนคน ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มรับบริการมากที่สุด รองลงมาเป็นผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูฯ คนพิการ และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง พร้อมสนับสนุนเครื่องช่วยความพิการ 3.5 หมื่นชิ้น ยกคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่กองทุนฟื้นฟูฯ ระดับจังหวัด มี อปท.เข้าร่วมดำเนินงานแล้ว 42 จังหวัด

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้คนพิการได้รับอุปกรณ์ เครื่องช่วยคนพิการตามความจำเป็นอย่างทั่วถึงและครอบคลุม และให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ได้รับบริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์อย่างต่อเนื่องทั้งในหน่วยบริการและในชุมชน พร้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยบริการ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์กรคนพิการ องค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องและชุมชน ในการพัฒนารูปแบบการดูแล ช่วยเหลือ สนับสนุน และให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่กลุ่มเป้าหมายร่วมกัน

ทั้งนี้ข้อมูลทะเบียนผู้พิการสิทธิย่อย ท.74 ปี 2548 มีคนพิการลงทะเบียนจำนวน 361,472 คน และปี 2560 มีคนพิการลงทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 1,233,555 คน ในจำนวนนี้เป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวมากที่สุด ร้อยละ 48.37 รองลงมาคือ คนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหายและคนพิการทางสติปัญญา ร้อยละ 21.43 และ 13.87 ตามลำดับ ซึ่ง สปสช.ได้ดำเนินงานบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ โดยจัดสรรงบประมาณดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จากจำนวน 4 บาทต่อประชากรผู้มีสิทธิ ในปี 2548 ต่อมาได้ขยายครอบคลุมการดูแลไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยภาวะเฉียบพลัน (Sub acute) และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ได้มีการเพิ่มเติมงบประมาณเพิ่มขึ้น โดยในปี 2561 สปสช.ได้จัดสรรงบประมาณบริการฟื้นฟูฯ จำนวน 16.13 บาทต่อประชากร หรือจำนวน 787,095,600 บาท

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานงบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ ปี 2560 ไม่รวมพื้นที่ กทม.มีกลุ่มเป้าหมายที่รับบริการฟื้นฟูฯ ทั้งหมดจำนวน 912,324 คน หรือจำนวน 3,372,704 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 94.7 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูฯ เป็นกลุ่มรับบริการมากที่สุด จำนวน 414,340 คน หรือจำนวน 1,531,030 ครั้ง รองลงมาคือกลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูฯ จำนวน 310,422 คน หรือจำนวน 1,099,270 ครั้ง กลุ่มคนพิการจำนวน 184,359 คน หรือจำนวน 731,847 ครั้ง และกลุ่มผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงจำนวน 3,203 คน หรือจำนวน 10,557 ครั้ง โดยรับบริการฟื้นฟูฯ ตามสิทธิประโยชน์บัตรทองที่ครอบคลุม 9 รายการ ได้แก่ บริการกายภาพบำบัด จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด กิจกรรมบำบัด การฟื้นฟูการได้ยิน การส่งเสริมพัฒนาการเด็ก การฟื้นฟูสรรถภาพทางการเห็น การแก้ไขการพูด และ Phenol block (การฉีดยาลดการทำงานของเส้นประสาท)

ขณะที่การสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ปี 2560 มีคนพิการที่ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการจำนวน 29,874 คน หรือจำนวน 35,530 ชิ้น โดยเป็นการสนับสนุนอุปกรณ์เพื่อช่วยเคลื่อนไหว แขนและขาเทียม จำนวน 6,440 คน หรือจำนวน 8,451 ชิ้น, อุปกรณ์เครื่องช่วยฟัง จำนวน 8,353 คน หรือ 8,496 ขิ้น ไม้เท้าคนตาบอดจำนวน 659 คน และอุปกรณ์เครื่องช่วยอื่นๆ จำนวน 14,853 คน หรือ 17,924 ชิ้น

ส่วนความคืบหน้ากองทุนฟื้นฟูสรรภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัด ซึ่ง สปสช.ได้เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับ อบจ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อเนื่อง ส่งผลให้มี อบจ.เข้าร่วมดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจำนวน 16 จังหวัดในปี 2555 เพิ่มเป็น 42 จังหวัดในปี 2560

“ในปี 2561 นี้ สปสช.ยังคงสนับสนุนจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูฯ เข้าถึงบริการ นับเป็นสิทธิประโยชน์ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย ที่เกิดจากความร่วมมือของหน่วยบริการ อบจ. และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นในปีนี้ สปสช.ยังได้กำหนดเป้าหมายอัตราการเข้าถึงการฟื้นฟูฯ ของกลุ่มเป้าหมายเพิ่มจากปีก่อนร้อยละ 15 เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการอย่างครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว