ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อกี้นี้มีน้องหมอโพสครุ่นคิดเรื่องทำอย่างไรไม่ให้การทำงานตามแนวคิดของทีมหมอครอบครัวตามที่รัฐบาลพยายามผลักดัน และกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยนั้นกลายไปเป็นโอพีดีเฉพาะทางนอกโรงพยาบาล หรือ Extended OPD ดังที่เห็นในหลายพื้นที่

ผมพยายามคิดเร็วๆ และตอบดังนี้...

"...พี่คิดว่าต้องวิเคราะห์ให้ดีว่า core competencies ของระบบหมอครอบครัวคืออะไร? และนั่นสามารถถูกทดแทนด้วยแพทย์เฉพาะทางหรือไม่?

สำหรับพี่แล้ว คนไข้ต้องการ 2 เรื่องหลักคือ

หนึ่ง ความเชี่ยวชาญของผู้ดูแลรักษา (ไม่ใช่หมายถึง board certified แต่หมายรวมถึงหมอทั่วไปหรืออื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องจบเวชศาสตร์ครอบครัว ที่อาจทำงานในลักษณะทีมที่แสดงออกให้รับรู้ได้ว่าไม่มั่ว รู้จริง ทำได้ และทำให้มั่นใจ) ภายใต้สัจธรรมคือไม่มีใครรู้ลึก รู้ดี ทำได้ไปหมดทุกเรื่อง แต่ถ้าช่วยกันเป็นทีมหรือเครือข่าย ก็ย่อมทำได้มากขึ้นกว่าคนเดียว

สอง การดูแลเอาใจใส่ อย่างครบถ้วน ครอบคลุม และต่อเนื่อง โรคปัจจุบันและในอนาคตนั้น ส่วนใหญ่จะต้องการการรักษานานและมีปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อการเกิดของโรค การหายของโรค รวมถึงการทวีความรุนแรง หรือบรรเทาเบาบางของโรค ซึ่งจำเป็นต้องใช้แรงกายแรงใจแรงปัญญาของหลายวิชาชีพมาช่วยกันทำ

ปัญหาตอนนี้ของแนวคิดทีมหมอครอบครัวคือ ต้องหาทางทำให้ทั้งคนทำงานและประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของระบบบริการดูแลในลักษณะดังกล่าว และคนทำงานในระบบสุขภาพก็อาจต้องหารูปแบบการทำงานที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ คนทำมีความสุข ประชาชนมีความสุข และแน่นอนว่าต้องคำนึงถึงวงจรงบประมาณและทรัพยากรด้วยว่า จะมาจากไหน รัฐอย่างเดียว หรือมีความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) หรือจะเป็นแบบเอกชนหรือประชาสังคมมาลงทุน หรือหลายอย่างผสมกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน..."

หลังจากตอบไปก็มาคิดว่าอะไรล่ะสำคัญที่สุดที่ควรทำให้กระจ่างชัด มี 2 คำถามวิจัยหลักคือ

หนึ่ง รูปแบบบริการตามแนวคิดทีมหมอครอบครัวนั้นเป็นที่ต้องการจำเป็น (needs) ของประชาชนจริงหรือไม่? หากเป็นที่ต้องการจำเป็น ในเมือง หรือชนบท หรือทั้ง 2 กลุ่ม? และได้รับการวางคุณค่าเทียบเท่า มากกว่า หรือน้อยกว่าสิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากระบบการดูแลรักษาแบบเดิม?

สอง ทีมและเครือข่ายที่ควรจะเป็นนั้นเป็นเช่นไร? สอดคล้องกับที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดองค์ประกอบไว้จริงหรือไม่? มีหลักฐานวิชาการมาสนับสนุนไหม?

2 เรื่องนี้สำคัญมาก และจำเป็นต้องตอบให้ได้ ก่อนจะไปผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติแล้วได้ผลที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง และ "...กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง..."

ด้วยรักและปรารถนาดีต่อทุกคน

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย