ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการพิจารณานำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ประชุมครั้งแรกตั้ง 4 คณะทำงาน เริ่มต้นที่การศึกษาวิจัยว่ารักษาโรคชนิดใดได้บ้าง โดยเฉพาะโรคที่มีผลวิจัยจากต่างประเทศรองรับ อาทิ โรคลมชัก โรคพาร์กินสัน หรือโรคมะเร็งระยะสุดท้าย

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรก โดยก่อนการประชุม นพ.ปิยะสกล ได้มอบนโยบายต่อคณะกรรมการฯ ว่า ประเทศไทยคงต้องปรับเปลี่ยน สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต้องดำเนินการ เช่น เรื่องกัญชา ที่มีทั้งประโยชน์และโทษ แต่จะทำอย่างไรให้เป็นนวัตกรรมนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ซึ่งกัญชาของไทยเป็นสายพันธุ์ที่ดี เป็นพืชประจำถิ่น น่าจะนำมาใช้ให้ได้ประโยชน์จริงๆ

ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีแนวทางดำเนินการ เพื่อนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ได้ตั้งคณะทำงาน 4 คณะได้แก่

1.คณะทำงานเพื่อการพัฒนาการปลูกและปรับปรุงสายพันธุ์ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผอ.องค์การเภสัชกรรม เป็นประธาน

2.คณะทำงานเพื่อพัฒนาการสกัดและการตรวจวิเคราะห์ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผอ.องค์การเภสัชกรรม เป็นประธาน

3.คณะทำงานเพื่อพิจารณาการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธาน

4.คณะทำงานเพื่อวางระบบการควบคุมในการศึกษาวิจัยและการใช้ทางการแพทย์ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นประธาน

โดยจะเริ่มต้นที่คณะทำงานเพื่อพิจารณาการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จะศึกษาวิจัยว่ากัญชาสามารถรักษาโรคชนิดใดได้บ้างทั้งในการแพทย์แผนปัจจุบัน และการแพทย์แผนไทย ซึ่งเบื้องต้นจะนำไปใช้กับโรคที่มีผลวิจัยจากต่างประเทศรองรับ อาทิ โรคลมชัก โรคพาร์กินสัน หรือโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ส่วนโรคอัลไซเมอร์ โรคออทิสติก โรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ทางคณะทำงานจะศึกษาวิจัยเพิ่มเติมว่ากัญชาสามารถเป็นประโยชน์ในการรักษาหรือไม่

จากนั้นคณะทำงานเพื่อการพัฒนาการปลูกและปรับปรุงสายพันธุ์ และคณะทำงานเพื่อพัฒนาการสกัดและการตรวจวิเคราะห์จะนำไปพัฒนาต่อ ทั้งนี้จะปรับปรุงอาคารขององค์การเภสัชกรรมเป็นสถานที่ปลูกและวิจัยในระบบปิด คาดว่าจะได้กัญชาแห้ง 500 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เนื่องจากต้องการให้ได้สารสกัดจากกัญชามาใช้ในมนุษย์ได้ทันที หลังจากประมวลกฎหมายยาเสพติดประกาศใช้

"อย่างไรก็ตาม ข้อสำคัญคือ การวางแนวทางในการควบคุม ซึ่งทาง อย.จะร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในการวางระบบ เพื่อไม่ให้การเกิดนำไปใช้ประโยชน์นอกเหนือจากการแพทย์โดยเด็ดขาด" นพ.โสภณกล่าว