ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทันตแพทย์ใจดีแจงเหตุผลใส่ฟันปลอมให้ป้าที่ระยองฟรี หลังถูกหลอกซื้อผ่านเฟซบุกส์แล้วใช้งานไม่ได้ ระบุเข้าใจความทุกข์ของผู้ป่วยและชื่นชมที่กล้าหาญออกมาเตือนคนอื่นๆ แนะรัฐออกทันตกรรมเคลื่อนที่ให้มากขึ้นแก้ปัญหาฟันให้คนชนบท

ขอบคุณภาพเว็บไซต์ไทยรัฐ

ทพญ.ชมัยพร ชินน้อย หรือ หมอแหวน เปิดเผยถึงการรักษาทำฟันปลอมฟรีให้กับนางอานันต์ ชุมวรฐายี วัย 62 ปี ชาวจังหวัดระยองที่ถูกหลอกหลังสั่งซื้อฟันปลอมผ่านโซเชียลมีเดียเฟซบุกส์ ในราคาชุดละ 1,550 บาท แต่ปรากฎว่าใช้งานไม่ได้ กระทั่งได้ร้องเรียน และทันตแพทย์หญิงชมัยพรได้อาสาทำฟันปลอมให้ฟรี ว่า เหตุผลที่อาสาทำฟันปลอมให้กับป้าอานันต์ฟรีเพราะความเห็นใจคุณป้า ที่ถูกหลอกให้ซื้อฟันปลอม อีกทั้งสาเหตุเป็นเพราะแต่เดิมตนเองก็อยู่ในพื้นที่ชนบทมาตั้งแต่เด็ก และกว่าจะได้พบทันตแพทย์จริงๆ ก็ต้องรอถึงช่วงศึกษามัธยมตอนปลาย

นอกจากนี้ ยังเข้าใจความรู้สึกของชาวบ้านในพื้นที่ชนบทห่างไกล ซึ่งเมื่อมีหมอกระเป๋าเข้ามารักษาก็ตื่นเต้นและอยากรักษาสุขภาพช่องปาก แต่ไม่รู้ความจริงว่านั่นคือหมอเถื่อน โดยตั้งแต่เด็กจะเห็นภาพการอุดฟัน ทำฟันปลอมจากหมอเถื่อน ซึ่งวัสดุที่ใช้อุดฟันก็มาจากวัสดุทำฟันปลอมโดยใช้การปั้นวัสดุแล้วอุดในช่องฟันที่ผุ ซึ่งเมื่อมาเรียนทันตแพทย์จึงทำให้รู้ว่าการรักษาเช่นนั้นผิดวิธี

รวมถึงไม่มีการเคลียร์ช่องปากและอุดวัสดุปิดทับเศษอาหารภายในปากทันที ก็ส่งผลให้เกิดหนองหรือฝีในช่องปากและเป็นการรักษาใหญ่ตามมาเพราะปัญหาจากหมอกระเป๋า ขณะที่รูปแบบการทำฟันปลอมของหมอกระเป๋าก็ใช้วิธีปิดแน่นชนิดที่ไม่ต้องถอดออกมาล้างเลย ซึ่งทำให้เกิดความสกปรกและสุดท้ายเมื่อมีปัญหาทำให้ชาวบ้านต้องถอนฟันออกยกแผง

"ชาวบ้านชนบทก็ตื่นเต้นที่จะได้รักษาเพราะอยู่พื้นที่ห่างไกล การเข้าถึงโรงพยาบาลเป็นไปได้ยาก การรักษาราคาหลักร้อยชาวบ้านจึงเลือกวิธีเข้ารักษากับหมอกระเป๋า" ทพญ.ชมัยพร กล่าว

ทพญ.ชมัยพร หรือหมอแหวน กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีของป้าอานันต์นั้นหากรักษาทำฟันปลอมจากทันตแพทย์ จะมีค่าใช้จ่ายราว 2,000-3,000 บาท แต่ทั้งนี้ป้าอานันต์ได้ซื้อฟันปลอมผ่านเฟซบุกส์ซึ่งใช้ไม่ได้ราคา 1,550 บาท จะเห็นได้ว่าราคาไม่ต่างกันมากนัก แต่เข้าใจว่าคนชนบทเงินหลักร้อยมีค่าพอสมควร และป้าอานันต์ได้บอกว่าเป็นเพราะว่าเห็นราคาถูกเลยสั่งซื้อ

อย่างไรก็ตาม ต้องชื่นชมความกล้าหาญของป้าอานันต์ที่กล้าออกมาเตือนประชาชนให้อย่าหลงผิดซื้อฟันปลอมมาใส่เอง แต่ผลดังกล่าวทำให้ป้ากลับถูกสังคมตำหนิว่าถูกหลอก หรือไปเชื่อได้อย่างไร ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

ทพญ.ชมัยพร ย้ำอีกว่า ชาวชนบทยังคงห่างไกลจากการรักษาสุขภาพช่องปากเป็นอย่างมาก เพราะการเข้าถึงโรงพยาบาลที่มีระยะทางไกลจากชุมชนเป็นเรื่องยาก ดังนัน เห็นว่าภาครัฐที่มีหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ ควรจะออกพื้นที่ให้มากขึ้นหรือถี่ขึ้น ขณะเดียวกันผู้นำชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ควรออกสำรวจและสอบถามชาวบ้านในพื้นที่เกี่ยวกับปัญหาและช่วยประสานให้หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่เข้ามาช่วยรักษา

"ยอมรับว่าทุกวันนี้ยังมีหมอกระเป๋าหรือหมอเถื่อนออกไปตามหมู่บ้านอยู่จำนวนมาก และขณะเดียวกันก็ยังมีการหลอกลวงขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพช่องปากผ่านโซเชียลมีเดียซึ่งไม่ได้มาตรฐานหลอกลวงประชาชนอยู่ไม่น้อยเช่นกัน”

ทพญ.ชมัยพร กล่าวอีกว่า ชาวบ้านแต่ละชุมชนก็มีสิทธิ์ในเรื่องบัตรทอง สามารถทำฟันได้โดยจ่ายแค่ 30 บาท แต่เพราะความห่างไกล ซึ่งการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่จะเสมือนไปรักษาได้ตรงเป้าหมายเลย ซึ่งภาครัฐต้องมีมาตรการเชิงรุกและจะช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพช่องปากของคนชนบทได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ หมอแหวนได้วางแผนว่าจะทำฟันปลอมฐานพลาสติกเพื่อให้คุณป้าใส่ก่อนระหว่างที่จะต้องเคลียร์ช่องปาก อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินน้ำลาย จึงจะทำฟันปลอมฐานโลหะ โดยมี ทพ.กฤษณ์ ธารีจารุ ทันตแพทย์เฉพาะทางใส่ฟันปลอมเป็นผู้ทำให้

ด้าน ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ทันตแพทยสภาขอชื่นชมหมอแหวนและหมอกฤษณ์ ที่มีจิตใจงดงาม เข้าใจความทุกข์ของคุณป้าอานันต์ มองในมุมมองที่แตกต่างว่าการที่คุณป้าออกมาเผยแพร่เรื่องนี้ให้สังคมได้รับรู้ถือเป็นความกล้าหาญเพราะเป็นการเตือนให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อเหมือนเช่นที่ตนเจอมา และยังช่วยเหลือดูแลให้คุณป้าอานันต์มีสุขภาพฟันที่ดี และยังช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในการเตือนให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ที่หลอกขายฟันปลอมสำเร็จรูปทั้งที่ใช้ไม่ได้จริงแก่ประชาชน จะเห็นได้ว่ากรณีปัญหานี้ได้สะท้อนถึงปัญหาการกระจายของทันตแพทย์ที่ในเขตเมืองจะมีทันตแพทย์กระจุกตัวอยู่มากกว่าในเขตชนบท ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงบริการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทันตแพทยสภากำลังผลักดันให้มีการกระจายทันตแพทย์ลงสู่ชนบทเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการและมีสุขภาพช่องปากที่ดี

ขอบคุณภาพเว็บไซต์ไทยรัฐ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง