ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยปี 2561 มีผู้เสียชีวิต 241 คน เฉลี่ยเดือนละ 33.29 คน วันละ 1.09 คน เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2560 ผู้เสียชีวิตลดลง 84 คน ชี้ด้วยกลยุทธ์“สามหัวใจ”สู่ความสำเร็จ พร้อมขยายผล 20 ตำบลสู่ 112 ตำบลต้นแบบเร่งขับเคลื่อน ศปถ.อำเภอ สู่ ศปถ.ตำบล มุ่งสร้างความปลอดภัยทางถนนตลอดทั้งปี

นพ.สมิต ประสันนาการ

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ จ.อุดรธานี ในการประชุมขับเคลื่อน “112 ตำบลต้นแบบสู่อุดรเมืองถนนปลอดภัย” จังหวัดอุดรธานี จัดโดย สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับจังหวัดอุดรธานี โดยมี นพ.สมิต ประสันนาการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานเปิดงาน เพื่อสื่อให้ทุกพื้นที่เข้าใจนโยบายและสร้างกระแสประชาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่รวมถึงการนำข้อมูลสถิติสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย พร้อมขับเคลื่อน ศปถ.อำเภอ สู่ ศปถ.ตำบล ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน ผู้ร่วมประชุมได้แก่ เจ้าหน้าที่รพ.สต.และ อปท.112 ตำบลใน 20 อำเภอ จังหวัดอุดรธานี

นพ.สมิต กล่าวว่า เป้าหมายการทำงานคือไม่อยากให้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนแม้แต่คนเดียว ซึ่งอุบัติเหตุทางถนนเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ “112 ตำบลต้นแบบสู่อุดรเมืองถนนปลอดภัย” ขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ “3 หัวใจ” ได้แก่ 1.ตำบลต้นแบบถนนปลอดภัย 2.ใส่หมวกกันน็อกเมื่อขับขี่ และ 3.ตีปีกแมงขี้นาก ภายใต้การบริหารที่ชัดเจนทุกระดับ ปลูกจิตสำนึกผู้ใช้รถใช้ถนน แก้ไขถนนให้สัญจรปลอดภัย คุมเข้มให้รถทุกประเภทมีความปลอดภัยสูง

นอกจากนี้คณะกรรมการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนตำบล อปท. หมู่บ้าน เกิดความเข้มแข็ง ผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามวินัยจราจร แก้ไขจุดเสี่ยงถนนเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ประชาคมสร้างมาตรการทางสังคม ให้มีจิตสำนึกวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนทุกหมู่บ้าน ชุมชน หน่วยงานและองค์กร ตลอดจนระบบการจัดการข้อมูลที่มีคุณภาพ คืนข้อมูลสู่ชุมชนสม่ำเสมอ กำกับติดตามประเมินผลทุกระยะต่อเนื่อง จะทำให้ผู้เสียชีวิตอุบัติเหตุทางถนนลดลง

ทั้งนี้บทเรียนจากการดำเนินงาน ตำบลต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดอุดรธานี ปี 2560 จำนวน 20 ตำบล โดยคัดเลือกจาก 1 ตำบลของอำเภอที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุด ดำเนินการเมื่อเดือนเมษายน - กันยายน 2560 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ พบว่า

จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุลดลง ร้อยละ 50 มีจำนวน 11 ตำบล (ร้อยละ 55)

จำนวนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง ร้อยละ 50 มีจำนวน12 ตำบล (ร้อยละ 60)

ไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน มีจำนวน 7 ตำบล (ร้อยละ 35) ลดผู้เสียชีวิตลงได้ 18 คน

โดยปีงบประมาณ 2561ได้มีตำบลสมัครร่วมดำเนินงานจำนวน 112 ตำบล ร้อยละ 71.79 ของตำบลทั้งหมด ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี สนับสนุนงบประมาณ ตำบลละ 10,000 บาท ขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและลดการตายจากอุบัติเหตุทางถนนผ่านระบบสุขภาพตำบล ให้สามารถประเมินผลการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม

และทุกพื้นที่ได้จัดทำแผนตำบลและขับเคลื่อนงานตาม 4 มาตรการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชารัฐ/ พัฒนาระบบข้อมูล/สร้างการป้องกัน แก้ไขปัญหาเชิงรุก/พัฒนาการตอบสนองหลังเกิดเหตุ) และ 6 กลยุทธ์ (มาตรการชุมชน/มาตรการองค์กรมาตรการโรงเรียน / มาตรการกฎหมาย /มาตรการประชาสัมพันธ์/มาตรการตอบสนองหลังเกิดเหตุ) อย่างต่อเนื่อง ทำให้สถิติการเสียชีวิตปีงบประมาณ 2561 (ข้อมูล 1 ตุลาคม 2560-9 พฤษภาคม 2561) มีผู้เสียชีวิต 241 คน (อัตรา 15.30 ต่อแสนประชากร) เฉลี่ยเดือนละ 33.29 คน วันละ1.09คน เมื่อเปรียบเทียบกับการเสียชีวิตช่วงเวลาเดียวกันในปีงบประมาณ 2560 ลดผู้เสียชีวิตลง 84 คน

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า สคอ.ได้มีส่วนร่วมการดำเนินงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ สนับสนุนข้อมูลผ่านหอกระจายข่าวและสื่อรณรงค์ในพื้นที่ 20 ตำบลต้นแบบมาอย่างต่อเนื่อง เช่น แบนเนอร์ สติกเกอร์ สปอตวิทยุฯ ตลอดจนเทศกาลที่ผ่านมาได้ประสานสื่อมวลชนลงพื้นที่ร่วมเกาะติดนำเสนอมาตรการเฝ้าระวังป้องกันอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเผยแพร่มาตรการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น เพื่อสร้างความตระหนักและรับรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ เช่น การตรวจแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่บนถนนทุกพื้นที่ และกรณีอาการสาหัสหรือเสียชีวิตต้องเจาะเลือดตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทุกราย

ทั้งนี้จากการดำเนินงานและการใช้มาตรการ “3 หัวใจ” ที่เข้มข้นของ 20 ตำบลต้นแบบจังหวัดอุดรธานีที่ผ่านมา เห็นผลชัดเจนเป็นที่ยอมรับ จนมีตำบลสมัครร่วมดำเนินงานเพิ่มเป็น 112 ตำบลในครั้งนี้ ก็มาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จนสามารถลดการเจ็บตายจากอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างชัดเจน ซึ่ง สคอ.จะร่วมเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่จะสนับสนุนและขับเคลื่อนการสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักแก่ประชาชนอย่างเข้มข้นต่อไป