ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผลงานสรุปข้อมูลทางวิชาการล่าสุดตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Annual Review of Public Health ปีที่แล้ว (2017) แม้จะมีงานวิจัยจำนวนมากพอสมควร แต่สรุปได้เพียงว่า

หนึ่ง ผลิตภัณฑ์อาหารแบบออร์แกนิกส์นั้นจะดีในแง่ที่ผู้บริโภคจะมีโอกาสสัมผัสการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงและสารเคมีปนเปื้อนน้อยกว่าการบริโภคอาหารปกติทั่วไป

สอง ผลิตภัณฑ์อาหารแบบออร์แกนิกส์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมาโดยส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม (ดีในแง่การรักษ์โลก)

สาม งานวิจัยหลายชิ้นพยายามเปรียบเทียบคุณค่าสารอาหารระหว่างอาหารแบบออร์แกนิกส์กับอาหารทั่วไป แต่มีความแตกต่างกันไม่มาก และไม่มีนัยสำคัญ หลายอย่างผลออกมากำกวม ดังนั้นจึงไม่สามารถสรุปได้อย่างฟันธง

สี่ ในแง่ของผลลัพธ์ทางสุขภาพ หรือแปลง่ายๆ ว่า กินอาหารแบบออร์แกนิกส์แล้วจะส่งผลดีต่อสุขภาพจริงหรือไม่? เป็นไปตามที่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์กันมากมายหรือเปล่า? แต่น แต้น แต๊น...คำตอบคือ ไม่มีหลักฐานวิชาการเพียงพอที่จะฟันธงได้ว่าอาหารแบบออร์แกนิกส์ดีกว่าหรือแย่กว่าอาหารปกติทั่วไปครับ

ดังนั้น การตัดสินใจบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารแบบออร์แกนิกส์นั้น จึงมีเหตุผลเชิงวิชาการเพียงเรื่องลดโอกาสสัมผัสยาฆ่าแมลงและสารเคมีปนเปื้อน และกระบวนการผลิตที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าวิธีปกติ ไม่ใช่เหตุผลว่ากินแล้วทำให้ผลลัพธ์ทางสุขภาพดีขึ้นอย่างที่โฆษณากัน

คงดีมากหากโฆษณาประชาสัมพันธ์ในประเทศไทยระมัดระวังเรื่องการเคลมสรรพคุณที่มากเกินกว่าข้อมูลวิชาการที่มี และคงจะดีสุดๆ หากพวกเราทุกคนช่วยกันชี้แจงแถลงไข หรือส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องไปยังเพื่อนพ้องน้องพี่ในสังคมตามกำลังที่เรามี ระยะยาวสังคมไทยจะมีความรู้เท่าทันด้านสุขภาพมากขึ้น ไม่เป็นเหยื่อของการโฆษณาสินค้าหรือบริการที่เว่อร์เกินงาม

ด้วยรักต่อทุกคน

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง

Brantsæter AL, et al. Organic food in the diet: Exposure and health implications. Ann Rev Pub Health, 2017. 38:295-313.