ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ ลงพื้นที่ส่งเสริมและสนับสนุนหมอ พยาบาล เขต10 จ.อุบลฯ ให้สร้างทักษะรู้รอดปลอดภัย เน้น4 กรอบแนวคิด สุขภาพดี มีโรคคุมได้ ช่วยผู้ป่วยทันท่วงที ขณะที่ผู้ตรวจราชการ สธ.เขต 10 ขานรับ พร้อมขยายผลสู่บุคลากร- ปชช.ในพื้นที่

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 ที่โรงแรมสุนีย์แกรนด์ จังหวัดอุบลราชธานี ในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเขตสุขภาพที่10 ภายใต้โครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน จัดโดย สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย และภาคีต่างๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉิน และเขตสุขภาพที่ 10 ประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, ยโสธร, อำนาจเจริญ และมุกดาหาร กว่า 300 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนพร้อมฝึกปฏิบัติ และนำไปขยายผลต่อไป

นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่10 กล่าวว่า ต้องขอบคุณสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯที่มาช่วยจุดประกายในเรื่องนี้ แนวทางดังกล่าวถือเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ว่า มุ่นเน้นในด้านการป้องกันของประชาชนตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้สูงอายุ หากมีโรคต้องควบคุมให้ได้ เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินก็ช่วยเหลือได้ทัน ทราบวิธีบรรเทาหรือช่วยเหลือเบื้องต้นไม่ให้เกิดความเสียหายที่รุนแรง

ในภาพรวมแล้วเขต 10 พยายามสร้างความเข้มแข็งให้กับบุคลากร เครือข่ายสาธารณสุข ตลอดจนโรงพยาบาลในสังกัด เพื่อนำองค์ความรู้ไปสู่ประชาชน ลดภาวะการเกิดโรคต่างๆ สำหรับการส่งต่อผู้ป่วยในระบบฉุกเฉินของท้องถิ่น เรามีระบบเครือข่ายและเครื่องมือที่พร้อม แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องจุดหมายปลายทางและการเข้าถึงตัวผู้ป่วย อย่างไรก็ตามการปลูกฝังการป้องกันการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ควรเริ่มตั้งแต่ในโรงเรียน เป็นเรื่องที่ดีหากมีหลักสูตรลูกเสือกู้ชีพและหลักสูตรสำหรับนักเรียนอื่นๆ และสามารถเพิ่มเติมต่อยอดช่วยชีวิตฉุกเฉินเพราะเมื่อเด็กโตขึ้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก

“เวทีการศึกษารูปแบบ เพื่อดำเนินงานตามแนวคิดทั้ง 4 กรอบของโครงการ ทางเขต10จะนำไปปรับใช้ ให้เกิดผลจริง ทั้งในการกระตุ้นประชาชนให้ ใส่ใจดูแลสุขภาพ เพื่อการมีสุขภาพดีเหมาะสมตามวัย และไม่เจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยสาเหตุที่ป้องกันได้ อีกทั้งยังช่วยสร้างความปลอดภัยทางด้านสุขภาพด้วย” นพ.ประพนธ์ กล่าว

ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ สมาคมฯต้องการจะสื่อสารว่า แพทย์ พยาบาลจะต้องหันมาใช้ยุทธศาสตร์รุก คือการรับหรือป้องกันมากกว่าการรักษาเพียงอย่างเดียว ไม่เช่นนั้นแล้วมันจะสายเกินไป เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า หากการเจ็บป่วยฉุกเฉินเกิดขึ้นแล้วรักษาได้ทันแล้วแม้ว่าจะรักษาได้ดีอย่างไรก็จะเกิดการเสียวิตและพิการเสมอไม่มากก็น้อย กรณีของโจ บอยสเก๊าท์ หรือ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นตัวอย่างที่ดีว่า หากคนรอบข้างรู้หรือสังเกตและช่วยเหลือทัน อาจจะไม่เสียชีวิต ดังนั้นการให้ความรู้แก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุข รวมทั้งประชาชนทั่วไป จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมาก เพื่อลดการเสียชีวิตและความพิการของผู้ป่วยฉุกเฉิน

ศ.นพ.สันต์ กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินหรือการดูแลไม่ให้ตนเองเจ็บป่วยควรจะสอนให้กับเยาวชนตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงอุดมศึกษา เพื่อให้เขามีทักษะที่จะรู้จัก “เอาตัวรอดปลอดภัย”จากการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ และเยาวชนกลุ่มนี้จะช่วยเตือนคนในครอบครัวให้ตระหนักถึงความปลอดภัยได้ ส่วนในอนาคตทางโครงการจะผลักดันให้กระทรวงศึกษาธิการ บรรจุนโยบายทักษะรู้รอดปลอดภัยเข้าไปในหลักสูตรการศึกษา ไม่เพียงแค่เป็นหลักสูตรลูกเสือกู้ชีพเพียงอย่างเดียว ตนอยากให้มีการเรียนการสอนในทุกระดับชั้น นอกจากนี้จะพยายามให้กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สปสช. มหาดไทย ร่วมกันส่งเสริมและให้ความสำคัญเรื่องการป้องกันมากกว่าการรักษา เพราะต่อให้เรามีแพทย์ที่เก่ง มีทีมกู้ชีพที่ดี แต่หากเกิดภาวะฉุกเฉินขึ้นแล้ว ย่อมเกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้

ขณะที่ นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า การแก้ปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินที่นับวันเพิ่มมากขึ้น และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุจากพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ไม่ถูกวิธี แนวโน้มของผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ พบในผู้ที่อายุน้อยมาก รวมถึง ผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง สิ่งที่น่าห่วง คือ แม้ระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินจะมีมากขึ้น แต่ยังพบปัญหาจำนวนผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีความแออัดเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยยังต้องนอนในห้องฉุกเฉินเพื่อรอเตียงว่าง ซึ่งสร้างผลเสียต่อผู้ป่วยและสร้างความเครียดให้แก่ผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงาน ดังนั้นหากไม่มีแนวทางที่จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินจากสาเหตุที่ป้องกันได้ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงแก่ตนเอง ครอบครัว ประเทศ

“สำหรับการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ตามโครงการส่งเสริมและป้องกันไม่ให้คนไทยเจ็บป่วยฉุกเฉิน เขตสุขภาพที่10 ครั้งนี้ ภาคีต่างๆที่ร่วมกันพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งหมด14หน่วย ได้มาช่วยในการถ่ายทอดและให้ข้อมูลประสบการณ์ต่างๆที่เป็นประโยชน์กับผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อหวังให้ผู้รับรู้และทีมงานในเขต 10 เข้าในแนวทางและสามารถนำไปเชื่อมโยงกับภารกิจของหน่วยงานได้ โครงการนี้ได้เริ่มมากว่า 1 ปี ต้องขอขอบคุณสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ให้การสนับสนุน” นพ.ไพโรจน์ กล่าว