ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผลศึกษาภาระงานคน รพ.สต. พบขาดอัตรากำลัง ใช้ทรัพยากรบุคคลไม่มีประสิทธิภาพ เพราะต้องทำงานไม่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ ตั้งแต่การเงินถึงพัสดุ มีเวลาบริการสุขภาพให้ประชาชนน้อยลง ส่งผลไม่สามารถทำงานตามวิชาชีพได้ ทำบุคลากรขาดขวัญกำลังใจ กระทบความก้าวหน้าวิชาชีพ

ปัจจุบันประเทศไทย มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กว่า 9,700 แห่ง กระจายอยู่ในทุกตำบล และบางตำบลมีมากกว่า 1 แห่ง จึงเป็นหน่วยบริการสุขภาพขั้นปฐมภูมิที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด รับผิดชอบประชากรตั้งแต่น้อยกว่า 3,000 คนจนถึง 15,000 คน มีบทบาทหลักในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและให้การรักษาพยาบาล กรณีประชาชนมีความเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยด้วยโรคง่ายๆ แต่ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายมุ่งเพิ่มคุณภาพบริการผู้ป่วยเรื้อรังให้ได้รับการดูแลต่อเนื่องใกล้บ้าน และการให้ดูแลระยะยาวในชุมชน ลดความแออัดของโรงพยาบาล และเพิ่มการเข้าถึงบริการที่จำเป็นของประชาชน

จากการศึกษาถึงภาระงานและผลิตภาพกำลังคนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดย นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร และคณะ (2560) กลับพบข้อมูลว่า เมื่อเปรียบเทียบกรอบอัตรากำลังที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด มี รพ.สต.เพียง 1 ใน 6 เท่านั้นที่มีบุคลากรครบทุกตำแหน่ง

และเมื่อเปรียบเทียบกับภาระงาน พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว บุคลากรสายวิชาชีพ ทั้งพยาบาลวิชาชีพ และวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ใช้เวลาส่วนใหญ่เกือบ 2 ใน 3 ของเวลาทำงานไปกับการให้การรักษาพยาบาลซึ่ง มากกว่าการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมทั้งยังต้องใช้เวลาอีกเกือบ 1 ใน 3 ไปกับงานบริหาร งานเอกสาร บันทึกข้อมูล และการทำรายงานโดยเฉพาะการบันทึกข้อมูล และการทำรายงานตามตัวชี้วัดที่กระทรวงและกรมในส่วนกลางกำหนด ซึ่งเป็นประเด็นที่บุคลากรรู้สึกคับข้องใจมากที่สุด และเห็นว่าควรมีการปรับปรุงเพื่อให้มีเวลาให้บริการประชาชนมากขึ้น

กล่าวในภาพรวมแล้ว รพ.สต.ยังมีปัญหาการขาดแคลนบุคลากรอีกอย่างน้อยร้อยละ 20 เพื่อรองรับงานตามนโยบายการเพิ่มคุณภาพ และการเข้าถึงบริการของประชาชน

รพ.สต.ขาดอัตรากำลังประมาณร้อยละ 20 ของที่ควรจะมี

จากการศึกษาข้อมูลของบุคลากรได้แก่ เจ้าพนักงาน/นักวิชาการสาธารณสุข พยาบาลวิชาชีพ บุคลากรทันตสาธารณสุข แพทย์แผนไทย และบุคลากรสายสนับสนุนรวม 4-11 คน เฉลี่ย 7.14 คน/แห่ง แต่มีเพียงร้อยละ 14.28 เท่านั้นที่มีบุคลากรปฏิบัติงานครบทุกตำแหน่ง ในจำนวนเฉลี่ย 7.14 คน/แห่งนี้มีตำแหน่ง เจ้าพนักงาน/นักวิชาการสาธารณสุข 2.64±0.74 คน พยาบาลวิชาชีพ 1.43±1.16คน ทันตบุคลากร 1±0.68 คน แพทย์แผนไทย 0.86 คน บุคลากรสายสนับสนุน 0.86 คน และเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล 0.36 คน

และเมื่อวิเคราะห์ภาระงานจากภารกิจ บริหาร เภสัชกรรม ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรครักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพ ทันตกรรม Palliative care แพทย์แผนไทย วิชาการ บันทึกข้อมูล พบว่า รพ.สต.กลุ่มตัวอย่างยังขาดอัตรากำลังประมาณ ร้อยละ 20 ของที่ควรจะมีซึ่งเป็นความขาดแคลนในระดับที่ไม่รุนแรง และสามารถบริหารจัดการเพื่อให้บุคลากรมีการทำงานล่วงเวลา โดยมีค่าตอบแทนหรือให้มีการจ้างงานเป็นบางเวลาเพื่อเป็นอัตรากำลังเสริมในช่วงที่มีภาระงานเพิ่มสูงกว่าปกติ

บุคลากร รพ.สต.ทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพของตนมากขึ้น ใช้ทรัพยากรบุคคลไม่มีประสิทธิภาพ

ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่าในด้านการใช้ประโยชน์จากกำลังคนนั้นบุคลากร รพ.สต.ต้องทำงานที่ไม่ได้อยู่ในหรือเกี่ยวข้องกับวิชาชีพของตนเลย ตัวอย่างเช่น นักวิชาการทันตสาธารณสุข, พยาบาลเวชปฏิบัติ และนักวิชาการสาธารณสุข ต้องทำงานการเงิน งานจัดซื้อจัดจ้าง งานพัสดุ และใช้เวลากว่าร้อยละ 30 ของบุคลากรสาธารณสุขที่ต้องมารับผิดชอบงานเหล่านี้แทนที่จะได้ไปทำงานด้านบริการสุขภาพตามบทบาทของตนเอง ซึ่งหากบริหารจัดการภาระงานในส่วนนี้ได้จะทำให้บุคลากรสายวิชาชีพเหล่านี้สามารถรับภาระงานบริการวิชาชีพได้อย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ยังพบว่าในบาง รพ.สต.พยาบาลต้องไปทำงานด้านแพทย์แผนไทย และยังพบอีกว่าบุคลากร รพ.สต.ยังต้องทำงานซึ่งต้องใช้ความรู้และทักษะของวิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่วิชาชีพตน และไม่ใช่ทักษะบูรณาการของทีมงานใน รพ.สต.เช่น งานจัดการคลังเวชภัณฑ์ งานเภสัชกรรมบำบัด งานคุ้มครองผู้บริโภค งานยาเสพติด และงานอุบัติเหตุ

ถึงแม้ว่างานจะถูกจัดการให้ลุล่วงไปได้แต่ประเด็นของความคุ้มค่าและประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรบุคคล ถือได้ว่าไม่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังพบว่าบุคลากรวิชาชีพทุกคนใน รพ.สต.ต้องใช้เวลาประมาณร้อยละ 10 ไปกับการลงข้อมูลและจัดทำรายงานต่างๆ ที่ต้องนำส่งกระทรวงสาธารณสุข

ปัญหาการบริหารจัดการสรรหาและกระจายกำลังคน

การกระจายเวลาการทำงานของบุคลากรในแต่ละงานใน รพ.สต.พบว่า 5 อันดับแรกของการใช้เวลาในการทำงานมากที่สุดถูกใช้ไปในงานด้านรักษาพยาบาล ร้อยละ26.1 รองลงมาคืองานบริหาร ร้อยละ 16.4 งานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ร้อยละ 14.5 งานเภสัชกรรม ร้อยละ 12.1 และงานบันทึกข้อมูล ร้อยละ 9.2 ตามลำดับ

และงานที่มีเวลาทำน้อยที่สุด คืองาน Palliative care และงานฟื้นฟูสภาพ ซึ่งอาจเนื่องจาก รพ.สต.มีอัตรากำลังพยาบาลซึ่งเป็นผู้ที่มีสมรรถนะในการดูแลผู้ป่วย Palliative ไม่เพียงพอ

การศึกษาครั้งนี้พบว่า มีรพ.สต ในกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 7 ที่ไม่มีพยาบาลอยู่ปฏิบัติงาน ร้อยละ 64.28 มีพยาบาลเพียงคนเดียว ร้อยละ 21.43 มีพยาบาล 2 คน และร้อยละ 7.14 มีพยาบาลมากกว่า 2 คน ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาของการบริหารจัดการสรรหาและการกระจายกำลังคน ที่อาจต้องมีการดำเนินการให้มีการพัฒนาบุคลากรเพื่อทำงานในลักษณะทีมทักษะผสม และมีความจำเป็นที่ต้องสร้างทักษะด้านการรักษาพยาบาลเบื้องต้น เพื่อให้บุคลากรสายวิชาชีพสาธารณสุขให้สามารถทำงานทดแทนกันได้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อร้องเรียนว่าผู้ป่วยมา รพ.สต.แล้วเจ้าหน้าที่ให้บริการรักษาพยาบาลเบื้องต้นไม่ได้เลยเวลาพยาบาลไม่อยู่

นอกจากนี้ยังพบว่า นวก./จพง. ทันตสาธารณสุข ยังมีความจำเป็นที่จะต้องให้การรักษาด้านทันตกรรมแก่ประชาชนด้วย ซึ่งจุดนี้คงต้องหาทางช่วยให้คนทำงานด่านหน้าของกระทรวงสาธารณสุขทำงานได้อย่างถูกต้องและได้รับความคุ้มครองในเชิงกฎหมายด้วย

ภาระงานบริหารใช้เวลาเกือบ 1 ใน 5 ของเวลาทำงานทั้งหมด

การจัดกระบวนการทำงานใน รพ.สต.ยังขาดประสิทธิภาพ รวมทั้งการมอบหมายงานและกำกับการทำงานเป็นทีมอาจไม่ชัดเจน จากการที่พบว่าบุคลากรทุกตำแหน่งรายงานว่ามีภาระงานบริหารที่ใช้เวลาเกือบ 1 ใน 5 ของเวลาทำงานทั้งหมด รวมทั้งเมื่อวิเคราะห์ภาระงานรายตำแหน่งพบว่า ผอ.รพ.สต.ใช้เวลาเพื่อทำงานบริหารเพียงครึ่งหนึ่งของเวลาทำงานทั้งหมด พยาบาลวิชาชีพ ใช้เวลาเกือบครึ่งหนึ่งของเวลาทำงานทั้งหมดในการรักษาพยาบาลและงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ในขณะที่เจ้าพนักงาน/นักวิชาการสาธารณสุข ใช้เวลากับงานนี้เพียงร้อยละ 36 และทำงานบริหารร้อยละ 21

ปัจจัยเสี่ยงต่อประสิทธิภาพของบุคลากร รพ.สต.

ปัจจัยกำหนดผลิตภาพของบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงาน รพ.สต. คือ จำนวนและโครงสร้างประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ ประเภทและจำนวนของบุคลากรใน รพ.สต. รวมไปถึงตัวชี้วัดจากกระทรวงสาธารณสุข และผลการดำเนินงานที่ต้องมีเพื่อเบิกงบประมาณจาก สปสช.

เมื่อหน่วยงานต้องถูกประเมินด้วยตัวชี้วัดและงบประมาณที่ผูกไว้กับผลงาน รพ.สต.จึงต้องบริหารจัดการให้เกิดการดำเนินงานที่สามารถตอบตัวชี้วัดที่ถูกกำหนดมาและสามารถเบิกเงินได้เพียงพอกับการดำเนินงาน ดังนั้นรูปแบบการดำเนินงานของ รพ.สต.ตลอดปีงบประมาณจะถูกออกแบบให้งานที่ทำในแต่ละช่วงเวลาสามารถตอบตัวชี้วัด หรือการประเมินได้ทันเวลาที่ต้องส่งเบิกหรือต้องถูกประเมิน

ผลลัพธ์ของงานส่วนใหญ่คือการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดปีละครั้ง จะมีแต่งานรักษาพยาบาลเท่านั้นที่มีการดำเนินงานตลอดเวลาทำการเพื่อป้องกันข้อร้องเรียน ด้วยจำนวนบุคลากรที่มีอยู่จำกัด งานบางงานที่ รพ.สต.ควรทำก็อาจไม่ได้ทำ ดังนั้นหากมีการจัดการอย่างเป็นระบบโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจะช่วยให้การทำงานคล่องตัว ลดระยะเวลาการทำงาน และการออกรายงาน รวมทั้งมีบุคลากรสายสนับสนุนที่จำเป็น เช่น เจ้าหน้าที่การเงิน เจ้าหน้าที่พัสดุ เพื่อรับผิดชอบงานที่เกินขอบเขตวิชาชีพอันเป็นทักษะผสมของทีมงานที่มีอยู่ จะช่วยให้การดำเนินงานของ รพ.สต.มีประสิทธิภาพมากขึ้น

บุคลากรขาดขวัญและกำลังใจ

บุคลากรที่ปฏิบัติงานใน รพ.สต. สะท้อนถึงปัญหาที่ทำให้ขาดขวัญกำลังใจ ที่สำคัญคือบุคลากรปฏิบัติงานไม่ตรงกับงานที่รับผิดชอบ ไม่ตรงตามโครงสร้าง ซึ่งจะมีผลต่อความก้าวหน้าและการขาดบันไดความก้าวหน้า และข้อจำกัดของการบริหารจัดการตำแหน่งที่ไม่สามารถทำให้มีบุคลากรมาปฏิบัติงานจริง และธำรงรักษาไว้ได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

วิจัยแนะ สธ.ทบทวนกรอบอัตรากำลัง รพ.สต. สร้างขวัญกำลังใจ ใช้งานตรงศักยภาพ

เก็บความจาก

นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร และคณะ (2560). ภาระงานและผลิตภาพกำลังคนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล. สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) .