ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายลดบริโภคเค็มแนะนำชาวพุทธ ใส่บาตรทำบุญจัดอาหารใส่บาตรถวายพระสงฆ์ ลดเค็มลดโซเดียม เพื่อลดจำนวนพระสงฆ์ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เผยตัวเลขพระสงฆ์ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี

นท.พญ.วรวรรณ ชัยลิมปมนตรี เลขาธิการเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า เครือข่ายลดบริโภคเค็มรณรงค์ให้ชาวพุทธทุกคนที่จะทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ระมัดระวังเรื่องการทำอาหารถวายพระ โดยเฉพาะอาหารที่จัดถวาย ควรเป็นอาหารที่ปรุงรสให้พอดี ไม่เค็มจัดหรือหวานจัดจนเกินไป โดยอาหารที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ประกอบด้วย อาหารแห้ง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, แหนมและปลากระป๋อง ส่วนอาหารสำเร็จรูป เช่น แกงเขียวหวาน ไข่พะโล้ และจำพวกผัดผักทุกประเภท

ปัจจุบันจากความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ทำให้ผู้ประกอบการอาหารมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับการบริโภคมากกว่า 618 ผลิตภัณฑ์ โดยการรับรองการใช้สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำมาซื้อรับประทาน เพื่อสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว รวมถึงนำมาถวายพระสงฆ์ได้อีกด้วย

จากข้อมูลด้านการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ที่มารักษาตัวที่โรงพยาบาลสงฆ์ พบว่า ในปี พ.ศ.2556 มี พระสงฆ์มารับการตรวจรักษา จำนวน 71,037 ราย พบป่วยด้วยโรคเบาหวาน 5,090 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.17 โรคความดันโลหิตสูง 5,472 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.7 ภาวะไขมันในเลือดสูง 7,315 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.30

และจากการวิจัยสุขภาพพระสงฆ์จำนวน 246 รูป ในพื้นที่ 11 จังหวัดทั่วประเทศ ในโครงการร่วมแรง ร่วมใจสร้างเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ไทย เมื่อปี 2544- 2555 พบว่า สุขภาวะ 4 มิติของพระสงฆ์ คือ กาย จิตใจ ปัญญา และสังคม โดยไม่พบปัญหารุนแรงใน ด้านจิตใจ ปัญญาและสังคม พบด้านที่มีปัญหาเรื่องเดียวคือ ร่างกายและสุขภาพ โดยพระสงฆ์ร้อยละ 45.1 มีภาวะอ้วน ร้อยละ 43.1

จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่าการเจ็บป่วยของพระสงฆ์มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ สาเหตุของอาการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ในช่วง 10 ที่ผ่านมา ร้อยละ 90 มาจากอาหาร เนื่องจากพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ ท่านต้องฉันอาหารที่ญาติโยมนำมาถวาย ประกอบกับพระสงฆ์ ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ทำให้เสี่ยงต่อโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารชุดยอดนิยม เช่น แกงเขียวหวาน พะโล้ ผัดกะเพรา นอกจากปริมาณไขมันและน้ำตาลในอาหารเหล่านี้สูงแล้ว ยังพบว่าปริมาณโซเดียมสูงอีกด้วย

โดยแกงเขียวหวานมีปริมาณโซเดียมเฉลี่ย 840 มิลลิกรัม ต่อ 1 ถ้วย พะโล้ มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ย 832 มิลลิกรัม ต่อ 1 ถ้วย และผัดกะเพรา มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ย 628 มิลลิกรัมต่อ 1 ถ้วย (1 ถ้วย ประมาณ 200 กรัม) ในขณะเดียวกันผู้ที่ปรุงอาหารด้วยตนเองโดยใช้เครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา ซอสปรุงรส ผงปรุงรส ผงชูรส ซุปก้อนกึ่งสำเร็จรูป เครื่องปรุงรสต่างๆ ในครัวเรือนเหล่านี้ ล้วนมีส่วนประกอบของโซเดียม หากใช้ในปริมาณมากเกินไปก็ส่งผลให้อาหารที่ปรุงเองนั้นมีปริมาณโซเดียมสูงมากไปด้วย

การบริโภคเกลือหรือโซเดียมปริมาณมาก ในการปรุงรสชาติอาหารให้มีรสเค็ม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ควรบริโภคโซเดียมเพียง 2,000 มก.ต่อวันเท่านั้น

ฉะนั้น ขอฝากให้ประชาชนทั่วไปที่จัดทำอาหารถวายแด่พระสงฆ์ด้วยตนเองหรือร้านค้าที่ทำอาหารชุดเพื่อใส่บาตรแด่พระสงฆ์ช่วงวันวิสาขบูชานี้ ควรตระหนักถึงหลังโภชนาการอาหารที่จะทำบุญใส่บาตร ควรหลีกเลี่ยงอาหารทอด รสจัด ไขมันสูง อาหารที่มีรสชาติเค็ม อาหารแปรรูป อาหารมักดอง และควรเน้นคาร์โบไฮเดรทจากข้าวกล้อง หรือข้าวกล้องผสมข้าวขาว โปรตีนจากเนื้อปลา ไก่ กุ้ง และผักในสัดส่วนปริมาณที่เหมาะสม และควรถวายน้ำปานะประเภทนมกล่องเพื่อเสริมแคลเซียม การทำบุญโดยคำนึกถึงสุขภาพของพระสงฆ์ นอกจากจะได้บุญได้กุศลแล้ว พระสงฆ์ก็ยังจะมีสุขภาพที่ดี เจริญกิจของสงฆ์อย่างเป็นปกติสุขปราศจากโรคและภัย