ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาโรงพยาบาลทั่วประเทศให้มีศักยภาพดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ตั้งแต่โรงพยาบาลต่อเนื่องถึงบ้านด้วยทีมหมอครอบครัวอย่างมีมาตรฐานเท่าเทียม ใช้การดูแลแบบ heart to heart

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราบาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กทม. นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ National Palliative and Hospice Care Conference ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “Sustainable Palliative Care: การดูแลประคับประคองคุณภาพ...สู่ความยั่งยืน” ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษาพยาบาลมีความก้าวหน้ามากขึ้นทำให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต มีชีวิตยืนยาวขึ้น ซึ่งเมื่อผู้ป่วยเหล่านี้เข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิตอาจต้องทุกข์ทรมานกับการรักษาเพื่อยื้อชีวิตในระยะสุดท้าย กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ด้วยการรักษาแบบประคับประคอง “palliative care” ช่วยจัดการกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น มีการเตรียมตัวเพื่อการจากไปอย่างมีความสุขในระยะท้ายของชีวิต

กระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาให้โรงพยาบาลทั่วประเทศมีศักยภาพในการดูแลแบบประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยโรคเรื้อรัง กลุ่มติดบ้านติดเตียง และผู้สูงอายุอย่างครบวงจร เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สร้างระบบความเชื่อมโยงกับเครือข่ายบริการสุขภาพและพัฒนาความเชี่ยวชาญทางวิชาการแพทย์ ทั้งในโรงพยาบาล และการดูแลต่อเนื่องที่บ้านด้วยทีมหมอครอบครัวอย่างมีมาตรฐานเท่าเทียมกัน ด้วยการดูแลแบบ heart to heart เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต อย่างสมเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์และเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการด้านการดูแลแบบประคับประคอง ประกอบด้วย สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย สภาการพยาบาล กองการพยาบาล สมาคมพยาบาลโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย ชมรมพยาบาลแบบประคับประคอง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดประชุมวิชาการเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง ยกระดับความสามารถด้านการบริการและสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างเป็นระบบ ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และครอบคลุมทุกภาคส่วนของประเทศ ระหว่างวันที่ 6-8 มิถุนายน 2561 ภายในงานมีการบรรยาย การอภิปรายนิทรรศการวิชาการ และ work shop โดยมีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง ทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 1,300 คน เข้าร่วมประชุม