ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดงานวิจัยควันหลงสงกรานต์ ชี้ยังเกาไม่ถูกที่คัน ย่ำอยู่กับที่ พบน้ำเมาต้นเหตุหลัก ดื่มหนัก สู่อุบัติเหตุเจ็บตาย ซ้ำสงกรานต์เสื่อม เลยเถิด ลวนลามคุกคามทางเพศพุ่ง แนะออกมาตรการรับมือก่อนความสูญเสียรอบใหม่มาถึง บังคับใช้กฎหมาย เพิ่มโทษเมาแล้วขับ

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ที่โรงแรมเอเชีย ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จัดเวทีเสวนา“ควันหลง...สงกรานต์ ถอดรหัส เจ็บ ตาย : หรือเกาไม่ถูกที่คัน”

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาสุราเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บ ตาย พิการ ทะเลาะวิวาท พฤติกรรมไม่เหมาะสม แม้จะมีมาตรการต่างๆ ออกมาควบคุม แต่ข้อมูลจากศูนย์ความปลอดภัยทางถนน ตั้งแต่วันที่ 11-17 เมษายน 2561 มีผู้เสียชีวิตสะสม 418 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 3,897ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีผู้เสียชีวิต 390 ราย สุรายังคงเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุและความรุนแรงต่างๆ

ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 55.9 ล้านคน เป็นผู้ที่ดื่มสุราในรอบปีที่ผ่านมาประมาณ 15.9 ล้านคน (28.4%) จำนวนผู้ดื่มสุราลดลงจากเดิมเมื่อ ปี 2557 และ 2558 (32.3% และ 34.5%) แม้สถานการณ์การดื่มของประชาชนไทยลดลง แต่ผลกระทบจากสุราทั้งการบาดเจ็บ ตาย พิการ พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ มีให้เห็นตลอดระยะเวลาในช่วงเทศกาลหยุดยาวของคนไทย

น.ส.กนิษฐา ไทยกล้า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการศึกษาผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ระหว่างพื้นที่โซนนิ่งปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพื้นที่ปกติ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น และอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พบว่า แม้เทศกาลงานสงกรานต์ส่งผลดีในแง่ธุรกิจการท่องเที่ยว แต่เมื่อมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเกี่ยวข้องย่อมกระทบเชิงลบ ทั้งการคุกคามทางเพศ การลวนลาม การเมา และทะเลาะวิวาท พบมากที่สุดในพื้นที่รอบคูเมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเขตโซนนิ่งปลอดเหล้า มีคนเล่นน้ำสงกรานต์จำนวนมาก ก่อให้เกิดอุบัติเหตุจราจร กระทบวัฒนธรรมประเพณีไทย ส่วนรณรงค์สงกรานต์ปลอดเหล้า แค่ขอความร่วมมืออาจไม่เพียงพอ แต่ต้องสร้างจิตสำนึกไม่ดื่มเครื่องดื่ม และเข้มข้นบังคับใช้กฎหมาย เช่น เพิ่มกฎหมายการห้ามดื่มในทางเดินทางสาธารณะ

นางสมควร งูพิมาย ภาคประชาสังคมนครราชสีมา กล่าวถึงความสูญเสียกรณีไลฟ์สดดื่มแล้วขับ จนมีผู้เสียชีวิตถึง 4 รายที่โคราชในช่วงสงกรานต์ซึ่งผ่านมา จากการเข้าไปพูดคุยกับญาติผู้สูญเสีย พบว่ากระทบต่อติดใจอยากมาก ครอบครัวที่เสียลูกชายทั้ง 2 คน ขณะนี้ภรรยาผู้เสียชีวิตไม่ยอมพูดคุยกับใคร เสี่ยงเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า และลูกชายวัย 8 ขวบ ยังปรับตัวไม่ได้ ไม่ยอมไปโรงเรียนเพราะเสียใจที่พ่อจากไป ส่วนอีกครอบครัวต้องมีหนี้สินเพิ่ม เนื่องจากกู้เงินเพื่อไปทำงานที่ต่างประเทศ แต่ผู้เป็นพ่อต้องออกจากงานกระทันหันเพื่อมางานศพลูก ซึ่งถนนเส้นนี้เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยมาก ยิ่งถ้ามีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อุบัติเหตุยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่าตัว อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นบทเรียนให้ต้องมาช่วยกันป้องกัน อยากฝากถึงผู้ที่ใช้รถใช้ถนน ต้องมีสติ ดื่มไม่ขับเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ส่วนบริษัทน้ำเมาต้องหยุดโฆษณาโหมการตลาด เพราะไม่เคยเห็นธุรกิจนี้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ เมื่อมีเหยื่อน้ำเมาเกิดขึ้นจากสินค้าของตนเองเลย

นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะ สคล. กล่าวว่ามาตรการเรื่องโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ ได้ขยายตัวไปอย่างมากนับตั้งแต่ถูกบรรจุไว้ในแผนของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยบนท้องถนน(ศปถ.) ตั้งแต่ปี 2554 โดยเจ้าภาพจัดงานต่างๆ ทั่วประเทศมากกว่า 90% เห็นด้วยกับการโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าปลอดภัย โดยมี 50 ถนนเล่นน้ำตระกูลข้าวปลอดเหล้าที่ริเริ่มโดย สสส.และ สคล.เป็น Model สำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแสดงให้เห็นสัญญาณและทิศทางความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดย ถ.ข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น เป็นตัวอย่างพื้นที่เล่นน้ำสนุก ปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์ จาก 10 ปีที่แล้วมีเหตุทะเลาะวิวาททุกชั่วโมง แต่ปีล่าสุดมีคนเข้าไปร่วมเล่นคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์สูงถึง 460,492 คน โดยไม่มีเหตุทะเลาะวิวาทและลวนลาม และได้ขยายModel นี้ใน 26 อำเภอของ จ.ขอนแก่น เพื่อให้มีหนึ่งอำเภอหนึ่งพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย

ขณะที่ สงกรานต์ที่สีลม ที่เคยมีประเด็นเมาเต้นเปลือยอกบนรถเมื่อปี 2554 มีร้านขายนำเมามากถึง 900 ร้าน แต่ใน 2 ปีล่าสุด ไม่มีการขายน้ำเมาแม้กระทั่งในร้านค้าสะดวกซื้อ เช่นเดียวกับสงกรานต์ผ้าขาวม้าที่สยามสแควร์, สงกรานต์ M2F ที่ Central World ที่เป็นพื้นที่จัดงานเอกชนปลอดเหล้า

ขณะที่ ถ.ข้าวสาร ที่สมาคมผู้ประกอบการถนนข้าวสาร ออกมาร่วมรณรงค์ส่งผลให้ภาพการขายน้ำเมาลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม พื้นที่จัดงานเอกชนและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ต่างๆ กลายเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงแทน เนื่องจากถูกธุรกิจแอลกอฮอล์ใช้เป็นสถานที่ส่งเสริมการขาย มีการจัดเป็นสงกรานต์กลางคืนหรือ Midnight สงกรานต์ที่พ่วงลานเบียร์ ซึ่งยากต่อการควบคุมดูแลและเยาวชนส่วนใหญ่ที่มาร่วมงานใช้จักรยานยนต์ในการเดินทาง

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ 2561 ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุทางถนนรวม 3,724 ครั้ง สาเหตุจากดื่มแล้วขับมากถึง 40.28% ขับเร็ว 26.50% และตัดหน้ากระชั้นชิด 17.05% โดยผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์เสียชีวิตสูงสุดถึง 67.4% การดื่มแล้วขับในช่วงเทศกาลมีจำนวนสูงมากเป็นปัญหาร้ายแรงที่ต้องเร่งแก้ไข ผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารที่ดื่มแอลกอฮอล์ มักละเลยการใช้อุปกรณ์นิรภัยทั้งหมวกกันน็อกหรือเข็มขัดนิรภัย โดยเฉพาะการส่งเสริมการขายแอลกอฮอล์ของสถานประกอบการ ร้านค้า มีทั้งการจัดคอนเสิร์ตเที่ยงวันถึงเที่ยงคืน กลายเป็นต้นทางของปัญหาดื่มแล้วขับ

จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลยกระดับกลไกแก้ไขปัญหาระดับประเทศให้มีเอกภาพ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และต้องทำทั้งระบบในช่วงเทศกาล ให้รัฐบาลขอความร่วมมือกับภาคเอกชนรายใหญ่ ทั้งผู้ผลิตและจำหน่ายให้งดกิจกรรมส่งเสริมการขายและจัดกิจกรรมรื่นเริงในช่วงเทศกาล ให้ปลอดแอลกอฮอล์ รวมถึงมาตรการทางกฎหมาย อาทิ ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพิ่มบทลงโทษให้สูงตามการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ หรือกรณีที่ทำความผิดซ้ำ สิ่งที่พยายามทำกันอยู่ก็คือเพิ่มศักยภาพระดับพื้นที่ สนับสนุน กำหนดให้เป็นวาระอำเภอ มีการดำเนินงานตลอดปี ทำให้ท้องถิ่นและชุมชนเข้ามาเป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่อไป