ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวทีประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อการล้างไตผ่านช่องท้อง ISPD 2018 จุดประเด็น “ค่าตอบแทนบริการล้างไตผ่านช่องท้อง” พัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยที่ไม่แข็งแรงล้างไตผ่านช่องท้องเองไม่ได้ หลังคิดคำนวณความคุ้มค่ายังประหยัดกว่าการล้างไตด้วยวิธีอื่น ทั้งสร้างแรงจูงใจเพิ่มบุคลากรดูแลผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องสู่ระบบ เผยมีหลายประเทศเดินหน้าแล้ว พร้อมเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลวิเคราะห์ความเหมาะสมภายใต้บริบทประเทศไทย

พล.อ.นพ.ถนอม สุภาพร

พล.อ.นพ.ถนอม สุภาพร อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต รพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า ในการประชุม International Society of Peritoneal Dialysis (ISPD) 2018 ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการนานาชาติของสมาคมนานาชาติเพื่อการล้างไตผ่านช่องท้องในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง นั้น Mr.Thierry Lobbedez ผู้เชี่ยวชาญโรคไตในแผนกไตวิทยา จาก Caen University Hospital ประเทศฝรั่งเศส ได้เปิดเผยผลการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายรายปีในการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในประเทศแคนนาดา โดยพบว่าวิธีการล้างไตผ่านช่องท้อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis: CAPD) เป็นการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุด เมื่อเปรียบเทียบกับการล้างไตด้วยวิธีอื่น ทั้งการล้างไตทางช่องท้องต่อเนื่องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (Continuous Cycling Peritoneal Dialysis: CCPD), การล้างไตผ่านเครื่องฟอกไตเทียมที่ทำกลางคืนในโรงพยาบาลทุกวัน และการล้างไตผ่านเครื่องฟอกไตเทียมตามปกติในโรงพยาบาลแบบเช้าไปเย็นกลับ

แต่วิธีการล้างไตผ่านช่องท้องสำหรับผู้ป่วยที่ไม่แข็งแรงจะค่อนข้างเป็นปัญหา ต้องมีคนในครอบครัวช่วยเหลือ รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา จึงให้มีการเบิกจ่ายค่าจ้างหรือค่าตอบแทนบริการล้างไตผ่านช่องท้อง (Assisted PD) ทั้งที่เป็นพยาบาลหรือผู้ที่รับการฝึกเพื่อช่วยทำล้างไตผ่านช่องท้องให้กับผู้ป่วย โดยกรณีการดูแลระยะสั้นไม่เกิน 60 วัน ให้เบิกค่าจ้างได้ในวงเงิน 2,752 ดอลลาร์สหรัฐต่อราย แต่หากเป็นการดูแลระยะยาวให้เบิกจ่ายได้ถึง 20,567 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยอัตราค่าจ้างอยู่ที่ครั้งละ 50 ดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยผู้ป่วยแต่ละคนจะล้างไตผ่านช่อง 118 ครั้งต่อปี ซึ่งค่าจ้างพยาบาลและผู้ดูแลผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องเพิ่มขึ้นนี้ เมื่อคำนวณความคุ้มทุนการดูแลผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง ยังประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 16,100 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับการล้างไตผ่านเครื่องไตเทียม

พล.อ.นพ.ถนอม กล่าวว่า จากการดูแลผู้ป่วยด้วยวิธีล้างไตผ่านช่องท้องที่ประหยัดกว่ามาก ในหลายประเทศ อาทิ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส บราซิล อิตาลี อังกฤษ และไต้หวัน เป็นต้น ได้สนับสนุนค่าบริการล้างไตผ่านช่องท้องให้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถล้างไตเองได้ ไม่แต่เฉพาะพยาบาลหรือคนรับจ้างดูแลผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องเท่านั้น แต่ยังจ่ายค่าจ้างให้กับคนในครอบครัวที่ล้างไตผ่านช่องท้องให้กับผู้ป่วยด้วย ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ในฝรั่งเศสผู้ที่ล้างไตผ่านช่องท้องให้กับผู้ป่วย ไม่ได้ดูแลเฉพาะการล้างไตผ่านช่องท้อง อย่างการใส่สายสวน การปลดสายสวน การดูแลโคนสายเปลี่ยนน้ำยาล้างไต การให้ยากรณีช่องท้องอักเสบ เท่านั้น แต่ยังดูแลสุขภาพผู้ป่วยโดยรวมด้วย ทั้งชั่งน้ำหนัก วัดความดัน ตรวจน้ำตาลในกรณีผู้ป่วยเป็นเบาหวาน รวมถึงการดูแลปัญหาสุขภาพอื่น ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดี” อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต รพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าว

พล.อ.นพ.ถนอม กล่าวว่า จากการประชุม ISPD 2018 สะท้อนให้เห็นว่าการล้างไตผ่านช่องท้องเป็นแนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ดีในอนาคต ทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับประเทศได้มาก แต่ควรเพิ่มเติมการสนับสนุนค่าบริการล้างไตผ่านช่องท้องให้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถล้างไตผ่านช่องท้องด้วยตัวเองให้เข้าถึงบริการ แม้ว่าจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการล้างไตด้วยวิธีอื่นยังมีความคุ้มค่าอยู่มาก ทั้งช่วยสร้างแรงจูงใจ ส่งผลให้มีบุคลากรด้านการดูแลผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องเพิ่มขึ้น ซึ่งภาพรวมทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยมีรายงานการจ่ายค่าจ้างบุคลากรสำหรับการล้างไตผ่านเครื่องไตเทียม แต่ในส่วนการจ่ายค่าจ้างบุคลากรเพื่อบริการล้างไตผ่านช่องท้องยังมีน้อยมากทั้งที่ยังมีปัญหาขาดแคลนอยู่มาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ส่วนประเทศไทยนโยบายการล้างไตผ่านช่องท้องภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ดำเนินมาร่วม 10 ปี จนเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านการพัฒนาระบบ ทำให้เกิดการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ลดอัตราการติดเชื้อจนอยู่ในระดับที่ดีกว่ามาตรฐานสากล จากข้อมูลในการประชุม ISPD นี้ โดยเฉพาะการสนับสนุนค่าจ้างบุคลากรเพื่อบริการล้างไตผ่านช่องท้อง จึงเป็นประเด็นน่าสนใจที่หน่วยงานเกี่ยวข้องจะนำไปวิเคราะห์ความเหมาะสมภายใต้บริบทของประเทศไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานยิ่งขึ้น ทั้งเป็นการจูงใจบุคลากรเพื่อดูแลผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องที่ยังขาดแคลน นำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายของประเทศในอนาคต