ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ แนะแนวทางการรักษาและป้องกันโรคหอบหืด เพื่อควบคุมอาการให้สงบ ยกระดับสมรรถภาพการทำงานปอด ป้องกันหรือลดการเสียชีวิต

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคหอบหืดเป็นการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมซึ่งเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่ทำให้หลอดลมของผู้ป่วยมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้และสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการไอและหายใจไม่สะดวกจากการที่หลอดลมตีบและอักเสบ สารเหล่านี้จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นหลังจากผู้ป่วยสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้จึงทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหอบหืดมากขึ้น ในรายที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องต้อง การอักเสบเรื้อรังของหลอดลมอาจนำไปสู่การเกิดพังผืดและการหนาตัวอย่างมาก ทำให้มีการอุดกั้นของหลอดลมอย่างถาวรได้ ผู้ป่วยโรคหอบหืดมักจะมีอาการเหนื่อยหอบเวลาออกแรง ไอ เสมหะเหนียวข้น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก และมีเสียงหายใจดังวี๊ดๆ หรือมีอาการในช่วงเวลากลางคืน และมีค่าความเร็วของลมหายใจออกสูงสุด อยู่ระหว่าง 50 – 80% ของค่าที่ดีที่สุด

พญ.วิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษาโรคหอบหืดสามารถทำได้ดังนี้

1. การป้องกันไม่ให้เกิดสารกระตุ้น คือ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงหรือขจัดสิ่งต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้หรือกระตุ้นอาการหอบหืดให้เกิดขึ้น อาทิ ไรฝุ่น แมลงสาบสัตว์เลี้ยง สปอร์เชื้อรา เกสร วัชพืช น้ำหอม สารเคมี ควันจากท่อไอเสีย อากาศที่ร้อนจัด/เย็นจัด เป็นต้น

2. การใช้ยารักษาชนิดสูดร่วมกับยาขยายหลอดลม ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และควรใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างถูกต้อง

3. ถ้าโรคหอบหืดมีอาการรุนแรงและเป็นบ่อย ควรใช้เครื่องวัดการทำงานของปอดเป็นประจำ เพื่อช่วยตัดสินใจปรับการรักษาได้รวดเร็วและแก้ปัญหาโรคหอบหืดกำเริบเฉียบพลัน

หากสังเกตและพบว่าตนเองมีอาการดังกล่าวข้างต้นควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงทีหรือถ้าเป็นผู้ป่วยโรคหอบหืดอยู่แล้วควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำต่างๆอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมอาการของโรคให้สงบลง ยกระดับสมรรถภาพการทำงานปอดจากโรคที่เป็นอยู่ ป้องกันหรือลดการเสียชีวิตจากโรคหอบหืด ส่งผลให้มีสุขภาพแข็งแรง