ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันก่อนน้องหมอปี 4 โพสต์ภาพพิธีรับเสื้อกาวน์ยาวกันแบบรัวๆ ด้วยความภาคภูมิใจ เพราะหมอเรียนกัน 6 ปี โดย 3 ปีแรกยังไม่ได้ขึ้นชั้นคลินิก และมักต้องเรียนแบบท่องจำซะมากโดยไม่ได้ไปดูผู้ป่วย ดังนั้นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกเชิงสัญลักษณ์ในความเป็นหมอจึงเกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่ 4 นั่นเอง

ขอบคุณภาพจาก รพ.ขอนแก่น "พิธีศักดิ์สิทธิ์สวมเสื้อกาวน์ให้น้อง" นักศึกษาแพทย์ปีที่ 3 ขึ้นปีที่4 คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

จริงๆ แล้วในสมัยก่อนย้อนไปช่วงศตวรรษที่ 18 การแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้าเช่นทุกวันนี้ หมอนั้นจะใส่ชุดแบบเป็นทางการ โดยมีสีดำ ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการคือ

หนึ่ง การเจ็บป่วยไม่สบายนั้นเป็นเรื่องความเป็นความตายของชีวิตคน จึงถูกพิจารณาว่าเป็นเรื่องที่ต้องซีเรียสจริงจัง

สอง ส่วนใหญ่คนมักจะไม่ไปหาหมอแต่เนิ่นๆ ดังนั้นกว่าจะไปหาและขอความช่วยเหลือจากหมอจึงมักมีอาการหนักหนาสาหัส ใกล้เสียชีวิต และพอไปรับการดูแลรักษาแล้ว มีโอกาสเสียชีวิตสูง สีดำจึงได้รับความนิยมใช้เพราะเหมาะสมกับสถานการณ์ดังกล่าว

ภาพวาดที่นิยมกล่าวถึงธรรมเนียมการใส่ชุดสีดำนี้ มีชื่อว่า "The Gross Clinic" วาดโดย Thomas Eakins ในปี ค.ศ.1875 โดยเป็นภาพการผ่าตัดขาในผู้ป่วยหนุ่มคนนึง โดยหมอและผู้ช่วยผ่าตัด ที่ Jefferson Medical College ในเมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

ถามว่าแล้วสีขาวถูกนำมาใช้เพราะอะไร? และเมื่อไหร่ล่ะ?

จากหลักฐานต่างๆ ที่ได้รับการบันทึกไว้นั้น พบว่ามีหลายเหตุการณ์ที่อยู่ในระยะเวลาใกล้เคียงกันและนำมาใช้อธิบายได้ ดังนี้

ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในประเทศแถบยุโรปได้เริ่มค้นพบว่าการเจ็บป่วยไม่สบายหลายโรคมักมาจากการติดเชื้อโรคประเภทแบคทีเรียต่างๆ และพยายามรณรงค์ให้เกิดการรักษาความสะอาดภายใต้ antisepsis campaign และสีขาวก็ถูกเลือกนำมาใช้ในวงการสุขภาพ เพราะสะท้อนถึงความสะอาด

นอกจากนี้ในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ก็มีลายลักษณ์อักษรบันทึกไว้เกี่ยวกับคุณพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยว่า สมัยนั้นไม่มีพยาบาลวิชาชีพแบบในปัจจุบัน ดังนั้นผู้ที่มาช่วยทำหน้าที่พยาบาลคือแม่ชี (nun) ซึ่งมักแต่งตัวเครื่องแบบสีดำ โดยคนมักเรียกแม่ชีที่ทำหน้าที่พยาบาลว่า ซิสเตอร์ (sister)

ทั้งนี้ได้มีการใช้สีขาวเข้ามาแทนการใช้เครื่องแบบสีดำ ด้วยเหตุผลคือ แสดงถึงความบริสุทธิ์ (purity) จากศาสนา และมีอิทธิพลส่วนหนึ่งที่เชื่อว่ามาจากชุดเจ้าสาวที่ใช้ในการแต่งงานด้วย

เสื้อกาวน์ยาวสีขาวที่เราเรียกกันนั้น ฝรั่งเค้าเรียกว่า white coat สมัยก่อนเค้ามีพิธีสวม white coat ให้กันสำหรับคนที่กำลังจะจบไปประกอบวิชาชีพแพทย์ ริเริ่มโดย Dr.Arnold P. Gold เรียกว่า white coat ceremony

อย่างไรก็ตาม หากสังเกตกันดีๆ จะพบว่าตามธรรมเนียมนิยม ไม่ใช่หมอทุกคนทุกสาขาจะนิยมสวมใส่ชุดสีขาวนี้ สำหรับหมอเด็กและหมอจิตเวชนั้นมักไม่ใส่ เนื่องจาก white coat นี้ใส่แล้วจะกระตุ้นให้เกิดความกังวลและความกลัวต่อผู้ป่วยเด็กและผู้ป่วยจิตเวช ดังที่มีศัพท์เทคนิคเรียกว่า "White coat syndrome"

เมื่อกาลเวลาผ่านไป ธรรมเนียมปฏิบัติก็มีการพัฒนาต่อยอด ดังที่เราได้เห็นว่าเมืองไทยเราก็มีพิธีมอบเสื้อให้แก่น้องหมอที่ขึ้นชั้นคลินิก แม้จะยังไม่จบเป็นหมอ แต่ก็เป็นการสร้างขวัญกำลังใจที่ดี ให้น้องๆ ได้มุ่งมั่นตั้งใจเรียน และดูแลผู้ป่วย เพื่อจะเติบโตเป็นหมอที่ดีในอนาคต

ยินดีกับทุกคนด้วยครับ

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง Hochberg SM. The Doctor's White Coat--an Historical Perspective. AMA Journal of Ehics. 2007:9(4);310-314.